ดาวเทียมยุโรปเผย อุณหภูมิพื้นผิวอาร์กติกเซอร์เคิลพุ่งไป 48 องศาแล้ว และอาจสูงขึ้นอีกในเดือนหน้า


เมื่อเรากล่าวถึงสถานที่อย่างอาร์กติกเซอร์เคิล เชื่อว่าหนึ่งในสิ่งแรกๆ ที่หลายๆ คนนึกถึงก็คงจะไม่พ้นทุ่งน้ำแข็งและอากาศที่หนาวเย็นเป็นแน่ อย่างไรก็ตามหากเราเดินทางไปอาร์กติกในช่วงนี้ ดูเหมือนว่าที่นั่นจะกำลังอยู่ในช่วงอากาศร้อนกว่าที่คิดเลย

นั่นเพราะล่าสุดนี้เอง โครงการโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรปก็เพิ่งจะออกมาประกาศว่าตอนนี้อุณหภูมิพื้นผิว ของพื้นที่บางแห่งในอาร์กติกเซอร์เคิล ได้พุ่งขึ้นไปสูงถึง 48°C แล้ว

 

 

อ้างอิงจากข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยออกมา อุณหภูมิพื้นผิวที่สูงสุดขั้วนี้ถูกวัดได้โดยดาวเทียม Copernicus Sentinel-3A และ Sentinel-3B เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2021 ในพื้นที่เมืองเวียร์โคยันสค์ สาธารณรัฐซาคา

เมืองนี้เป็นหนึ่งในเมืองใกล้ๆ เส้นอาร์กติกเซอร์เคิล มีประชากรราว 1,400คน และตามปกติจะมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ย -40°C (เคยต่ำสุดถึง -69.8°C)

ในขณะที่พื้นที่อื่นๆ ในเขตนี้เองก็แทบจะมีอุณหภูมิสูงกว่า 35°C ทั้งสิ้น

 

 

การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวในครั้งนี้ มีเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการที่ในปัจจุบันเขตอาร์กติกเซอร์เคิลได้เข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ในขณะที่อีกหลายๆ ส่วนมาจากเหตุไฟไหม้ใหญ่ในหลายๆ พื้นที่ของโลก ซึ่งทำให้ปริมาณคาร์บอนในอาร์กติกมากขึ้น

และแน่นอนว่าสภาวะโลกร้อนจากเหตุอื่นเองก็น่าจะมีส่วนกับเรื่องนี้ไม่น้อยเลยเช่นกัน เพราะต่อให้เทียบกับฤดูร้อนปีก่อนๆ ที่มีเหตุไฟไหม้ใหญ่เช่นกัน อุณหภูมิในปัจจุบันก็ถือว่าสูงเกินไปอยู่ดี

โดยเฉพาะในยามที่เขตอาร์กติกเซอร์เคิลยังคงเหลือช่วงเวลาในฤดูร้อนถึง 2 เดือนเช่นนี้

 

 

นี่นับว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่เลยก็ว่าได้ เพราะหากอุณหภูมิยังคงเป็นอย่างนี้ต่อไป มันก็จะไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่น้ำแข็งในพื้นที่สำคัญหลายๆ แห่งจะละลายหายไป เร็วกว่าที่มันจะถูกสร้างขึ้นใหม่ในฤดูหนาว

และแม้ตามปกติการวัดอุณหภูมิพื้นผิวเช่นนี้มักจะได้ผลออกมาเป็นอุณหภูมิที่สูงกว่าอุณหภูมิอากาศจริงๆ อยู่บ้างก็ตาม (เหมือนกับเวลาที่เราเหยียบทรายหรือคอนกรีตแล้วรู้สึกว่ามันร้อนกว่าอากาศรอบๆ)

การที่เขตอาร์กติกเซอร์เคิลร้อนราวกับเป็นประเทศไทยเช่นนี้ มันก็คงจะเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย

 

ที่มา iflscience, livescience


Like it? Share with your friends!

0 Comments

Choose A Format