ไหนเขาว่า ความเหงาไม่ทำร้ายใคร วิจัยพบ “ความเหงา” เปลี่ยนแปลงสมอง เพิ่มความเสี่ยง ภาวะสมองเสื่อม ได้


สำหรับสัตว์โลกบางชนิด “ความเหงา” ถือเป็นศัตรูตัวฉกาจที่อาจเป็นอันตรายอย่างมาก อย่างในกระต่าย ความเหงาก็อาจจะนำไปสู่อาการล้มป่วยรุนแรง หรือแม้กระทั่งความตายได้

แต่ทราบกันหรือไม่ว่าแม้แต่มนุษย์เราเอง ความเหงาก็อาจจะเป็นสิ่งที่มีอันตรายกว่าที่เราเคยคิดเอาไว้ก็เป็นได้ นั่นเพราะจากงานวิจัยทั้งของมหาวิทยาลัยฟูตันในจีน และมหาวิทยาลัยแมคกิลล์ในแคนาดา

นักวิทยาศาสตร์ก็เคยออกมายืนยันแล้วว่า ความเหงาสามารถทำให้โครงสร้างสมองเราเปลี่ยนไปได้ แถมมันยังทำให้ความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

โดยในงานวิจัยชิ้นล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ได้สำรวจข้อมูลสมองของอาสาสมัคร 500,000 คน (อายุเฉลี่ย 57 ปี) จาก UK Biobank กับข้อมูล MRI ของอาสาสมัครอีก 32,000 คนและพบว่า

อาสาสมัครที่อยู่คนเดียว มีการติดต่อทางสังคมน้อยกว่าเดือนละครั้ง และเข้าร่วมในกิจกรรมทางสังคมน้อยกว่ารายสัปดาห์ส่วนใหญ่ จะมีระดับการรับรู้ที่แย่ลง ทั้งในด้านความจำและเวลาในการตอบสนอง

แถมในสมองของพวกเขายังมีปริมาณของเนื้อสมองสีเทาที่ลดลงด้วยในพื้นที่หลายจุด ซึ่งร่วมถึง

– สมองส่วนบริเวณขมับ (ซึ่งประมวลผลเสียงและช่วยเข้ารหัสหน่วยความจำ)

– สมองส่วนกลีบหน้า (ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสนใจ การวางแผน และรู้ความเข้าใจที่ซับซ้อน)

– สมองส่วนฮิบโปแคมปัส (ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และความจำ)

เท่านั้นยังไม่พอ พวกเขายังพบความเชื่อมโยงระหว่างปริมาณสารสีเทาที่ต่ำลง กับกระบวนการทางพันธุกรรมเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ เรียกได้ว่าความเหงานั้น อาจมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ได้เลย

ดังนั้น มันคงจะไม่ใช่เรื่องเกินจริงนักที่เราจะบอกว่าความเหงาอาจจะเป็นเรื่องที่มีอันตรายกับคนได้ไม่แพ้สัตว์หลายๆ ชนิดเลย ใครรู้ตัวว่ามีเพื่อนหรือญาติๆ ขี้เหงาก็ช่วยดูแลพวกเขากันหน่อยนะ

 

 

ที่มา

pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/35676089/#affiliation-1

www.sciencealert.com/social-isolation-actually-changes-our-brain-structure-neuroimaging-reveals

www.openaccessgovernment.org/brain-structure/100221/


Like it? Share with your friends!

Choose A Format