10 ประโยคช่วยเหลือ “คนที่คิดจะฆ่าตัวตาย” พูดอย่างไรให้ถูก ให้พวกเขาอยากมีชีวิตต่อ

ปัจจุบันโรคภัยที่มาแบบเงียบๆ แต่แฝงความอันตรายเอาไว้คือ โรคทางจิต เพราะเราไม่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนเหมือนกันโรคทางกายที่เพียงปวดศีรษะหรือปวดท้องก็ไปพบแพทย์ได้

แต่อาการทางจิต บางครั้งคนเราไม่รู้ว่าแบบไหนที่เรียกว่าผิดปกติหรือเข้าข่ายมีอาการทางจิต ประกอบกับบางคนก็กลัวว่าสังคมจะไม่ยอมรับหากเข้าพบจิตแพทย์ จึงทำให้ผู้ที่มีเพียง “อาการทางจิต” หลายคนอาจพัฒนาจนเป็น “โรคทางจิต” ได้

 

 

ปัจจุบัน โรคทางจิตที่แพร่หลายและค่อนข้างใกล้ตัวผู้คนกว่าโรคอื่นก็คือ โรคซึมเศร้า ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง รวมทั้งอาจเกิดจากการประสบกับเหตุการณ์สะเทือนใจอย่างรุนแรง ผู้ป่วยอาจมีอาการเซื่องซึม เบื่อหน่าย ไม่สามารถทำกิจกรรมที่เคยชอบหรือเคยทำได้ กินน้อยหรือมากผิดปกติ นอนไม่หลับ รู้สึกไร้ค่า โทษตัวเอง ซึ่งหากอาการรุนแรงก็จะเกิดความคิดอยาก ฆ่าตัวตาย ขึ้นมาด้วย

อาการซึมเศร้า โรคซึมเศร้า และความคิดที่จะฆ่าตัวตายที่ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดกับตนเองหรือคนใกล้ชิด ฉะนั้นหากใครที่ต้องรับมือกับคนที่กำลังอยาก “ฆ่าตัวตาย” ก็ควรรู้วิธีช่วยเหลือพวกเขาเอาไว้สักนิดก็ยังดี

วันนี้เราจึงขอเสนอ 10 ประโยคที่ควรพูด กับคนที่กำลังคิดจะฆ่าตัวตาย ให้พวกเขาได้คิดดีๆ อีกครั้ง

 

1. “ดีใจนะที่คุณบอกฉันว่าคุณกำลังคิดจะฆ่าตัวตาย” (หรือประโยคที่ความหมายใกล้เคียง)

แทนที่จะพูดด้วยอารมณ์รุนแรงหรือพูดแบบไม่ใส่ใจ หันมาพูดกับเขาอย่างเปิดใจและยอมรับความคิดของเขาดีกว่า

 

2. “ฉันรู้สึกไม่ดีเลยที่เห็นคุณต้องเจ็บปวดแบบนี้”

ประโยคทำนองนี้นอกจากจะแสดงความใส่ใจแล้วยังช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกคลายเหงาได้ด้วย อย่าพยายามปฏิเสธความคิดของเขาหรือทำให้ความเจ็บปวดของเขาดูเล็กน้อย เช่น “ไม่ขนาดนั้นหรอกมั้ง” หรือ “อย่าลืมว่าคุณมีอะไรต้องทำอีกเยอะ”

 

3. “เกิดอะไรขึ้นเหรอ ทำไมคุณถึงอยากฆ่าตัวตาย?”

การชักชวนให้ผู้ฟังเล่าปัญหาจะแสดงถึงความเปิดใจรับฟังและพร้อมเข้าใจเขา อาจแสดงความเห็นด้วยหรือความเข้าใจได้ขณะเขาเล่า เช่น “แย่จังเลย” หรือ “เข้าใจเลยว่าทำไมคุณถึงเจ็บปวดขนาดนี้”

 

4. “แล้วคุณคิดจะเริ่มทำการฆ่าตัวตายเมื่อไหร่กันล่ะ?”

คำถามนี้ไม่ได้เป็นการสนับสนุนให้ผู้ฟังฆ่าตัวตาย แต่เป็นคำถามพื้นฐานที่ทำให้เราเข้าใจว่าเขาเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากน้อยเพียงใด จะได้วางแผนรับมือได้ทันเวลา

 

5. “คุณคิดจะฆ่าตัวตายด้วยวิธีไหน?”

เป็นอีกคำถามที่ใช้วัดความเสี่ยง เพราะผู้ที่วางแผนฆ่าตัวตายอย่างจริงจังจะอันตรายมากกว่าผู้ที่มีเพียงความคิดอยากฆ่าตัวตายแบบกว้างๆ เช่น หากผู้ป่วยอยากตายด้วยยา เราจะได้ป้องกันไม่ให้เขาใช้ยาได้ทัน เป็นต้น

ที่มา: colorado

 

6. “คุณมีปืนไหม?”

คำถามนี้เป็นคำถามที่สำคัญ เพราะสามารถสื่อถึงความจริงจังในการฆ่าตัวตายได้ ไม่ว่าเขาจะพกปืนเอาไว้กับตัวหรือหยิบจากในบ้านมาใช้ก็ตาม หากเขาตอบว่า “ได้” พยายามแนะนำให้เขาฝากปืนไว้กับคนที่เขาไว้ใจ และเก็บเอาไว้ให้ไกลตัวเขาเสีย

ที่มา: mass

 

7. “ไม่ว่าจะอย่างไรก็มีความช่วยเหลือเสมอนะ”

การบอกเช่นนี้จะทำให้ผู้ฟังไม่รู้สึกสิ้นหวัง อย่างน้อยก็มีผู้ที่คอยรับฟังและให้คำปรึกษาปัญหาทางจิตอยู่ตลอดเวลา เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1667 เป็นต้น

 

8. “ฉันจะช่วยอะไรคุณได้บ้าง?”

หลังจากบอกว่ามีความช่วยเหลือต่างๆ นานา หากอยากให้เขามีชีวิตอยู่ต่อ ตัวคุณเองก็ต้องพร้อมช่วยเหลือเขาเช่นกัน

 

9. “ฉันเป็นห่วงคุณนะ และฉันคงจะเสียใจมากหากคุณจากไปด้วยการฆ่าตัวตายแบบนี้”

คำพูดนี้ต้องระวัง อย่าพูดให้ผู้ฟังรู้สึกผิดที่การฆ่าตัวตายทำให้ใครต้องเสียใจ พยายามพูดง่ายๆ ให้สื่อได้ว่าคุณเป็นห่วงและรักเขามากแค่ไหน

 

10. “ฉันหวัง/อยากให้คุณเล่าให้ฉันฟังอีกเกี่ยวกับความคิดที่จะฆ่าตัวตายของคุณ”

ประโยคนี้จะเป็นการเปิดรับปัญหาของผู้ฟังให้เขาได้แบ่งปันความคิดนี้กับคุณ เขาจะไม่รู้สึกโดดเดี่ยว นอกจากนี้ขณะที่เขาเล่าเขายังได้ทบทวนความคิดของตัวเองอีกครั้งด้วย

 

ป่วยทางกายยังต้องฉีดยาให้ถูกจุด ป่วยทางจิตใจก็ต้องเยียวยาทางจิตใจให้ถูกจุดเช่นกัน

ที่สำคัญคือหากมีผู้ป่วยเป็นคนใกล้ตัว พาเขาไปพบแพทย์และรับการรักษาอย่างถูกต้องนะครับ

ที่มา: speakingofsuicide และ psychcentral

Comments

Leave a Reply