ปัญหาน่าเศร้าของญี่ปุ่น หญิงชราก่อคดีหวังเข้า “คุก” เพราะ ‘ฉันจะไม่โดดเดี่ยวอีกแล้ว…’

ประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าดูจะเป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรืองทั้งด้านเทคโนโลยีและวัฒนธรรม แต่เมื่อหลายๆ สิ่งเปลี่ยนไป ประชากรของประเทศกลับต้องประสบปัญหาที่น่าเศร้า…

ประชากรในประเทศญี่ปุ่น 27.3 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด เป็นผู้สูงวัยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และสิ่งที่เป็นปัญหาตอนนี้คือการก่ออาชญากรรมของผู้สูงอายุนั่นเอง

 

 

จากสถิติแล้วมีการแจ้งความและจับกุมผู้สูงอายุในญี่ปุ่นจำนวนมาก โดยเฉพาะ หญิงชรา ที่มีอัตราการก่อคดีสูงกว่ากลุ่มประชากรอื่นๆ

เช่นกัน ราวๆ 1 ใน 5 ของจำนวนนักโทษนั้นเป็นผู้สูงอายุ และส่วนมากนักโทษหญิงสูงวัย 9 ใน 10 คน ถูกระบุว่าต้องโทษคดี ขโมยของในร้านค้า

 

 

สาเหตุที่พวกเธอต้องลงมือก่อคดี หรือว่าขโมยของ ก็เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของประเทศญี่ปุ่น จากปี 1980 ที่การดูแลผู้สูงอายุนั้นเป็นหน้าที่สำคัญของครอบครัวและชุมชน

เปลี่ยนแปลงมาจนถึงปี 2015 ที่กลับกลายเป็นว่าผู้สูงอายุต้อง อาศัยอยู่ตามลำพังเพิ่มมากขึ้น ราว 6 ล้านคนหรือมากกว่า 6 เท่าเลยทีเดียว

จากการสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่นในปี 2017 พบว่าครึ่งหนึ่งของนักโทษหญิงชราในคดีขโมยของนั้นต้อง อาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยว และอีก 40 เปอร์เซ็นต์ไม่มีครอบครัวหรือไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเครือญาติ

พวกเขาเหล่านี้มักพูดว่า พวกเขาไม่เหลือที่พึ่งอีกแล้วยามที่พวกเขาต้องการความช่วยเหลือ

 

 

ยูมิ มุรานะกะ พัศดีเรือนจำหญิงอิวะคุนิกล่าวว่า “พวกเขารู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจพวกเขา เขารู้สึกว่าคนอื่นๆ ยอมรับพวกเขาเพียงในฐานะผู้ทำความสะอาดบ้านเท่านั้นเอง”

นอกจากนี้หญิงชรายังอ่อนแอต่อสภาวะทางเศรษฐกิจที่แข็งกระด้าง เกือบครึ่งของหญิงวัย 65 ปีขึ้นไปต้องอาศัยอยู่ลำพังท่ามกลางความแร้นแค้น

นักโทษหญิงคนหนึ่งกล่าวว่า “สามีของฉันตายเมื่อปีที่แล้ว เราไม่มีลูกด้วยกัน เมื่อเขาตายฉันจึงต้องอยู่ลำพังคนเดียว

วันหนึ่งฉันออกไปซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อซื้อผัก ฉันหันไปเห็นเนื้อวัวเข้า ฉันอยากได้ แต่ฉันไม่มีเงินพอจะซื้อ ฉันหยิบมันมาเฉยๆ”

 

 

การเปลี่ยนแปลงดังที่กล่าวไปทั้งหมด ได้ก่อปัญหาให้กับประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ในปี 2015 รัฐบาลญี่ปุ่นต้องใช้งบประมาณไปกับการดูแลผู้ต้องขังเหล่านี้ราว 1,500 ล้านบาท (6 พันล้านเยน)

ซึ่งเมื่อเทียบกับเมื่อสิบปีที่แล้ว ถือว่าใช้งบประมาณเพิ่มมากขึ้นถึง 80 เปอร์เซ็นต์

 

 

เนื่องจากผู้คุมนักโทษต้องทำหน้าที่ราวกับว่าเป็นพยาบาลที่คอยดูแลผู้สูงอายุ ทั้งอาบน้ำ พาเข้าห้องน้ำ และดูแลความสะอาด พร้อมกับต้องอดทนกับนิสัยที่แตกต่างกันของผู้ต้องขังที่เป็นหญิงชราเหล่านี้

จึงทำให้เจ้าหน้าที่ดูแลทัณฑสถานหญิงส่วนใหญ่ลาออกจากงานภายใน 3 ปี

 

 

ทั้งที่ในปี 2016 ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกระบบการคุ้มครอง ผู้เคยเป็นนักโทษ ให้ได้รับสวัสดิการและบริการต่างๆ ทางสังคมแล้วก็ตาม แต่การลดอัตราผู้กระทำผิดก็ยังคงเป็นเรื่องยาก

 

เพราะสำหรับ หญิงชราที่ต้องอยู่โดดเดี่ยวแล้ว “คุก” ก็เปรียบเสมือนสวรรค์ที่ทำให้พวกเธอมีเพื่อน มีคนดูแล แม้ต้องอาศัยอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ ก็ตาม…

 

ที่มา: Bloomberg และ Theculturetrip

Comments

Leave a Reply