วิศวกรหัวเฉียบ… คิดค้นระบบจดจำใบหน้าแมว จะได้รู้ว่าเมื่อไหร่เจ้านายอยากเข้าบ้าน!!

เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้ชีวิตของมนุษย์สะดวกสบายมากขึ้นกว่าแต่กาลก่อน ไม่ว่าจะเป็นระบบคิดคำนวณค่าต่างๆ ระบบช่วยเหลืออัตโนมัติ ระบบจดจำใบหน้า ฯลฯ ซึ่งหากนำมาประยุกต์ใช้อีกหนึ่งต่อก็ยิ่งดีไปอีก!!

ด้วยความรู้และความเข้าใจของทาสนามว่า Arkaitz Garro ผู้ทำงานเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ให้กับบริษัท WeTransfer ในประเทศเนเธอร์แลนด์ จากเหตุที่ประตูบ้านของเขานั้นไม่มีประตูน้อยสำหรับเจ้านาย…

เมื่อไรก็ตามที่นายท่านอยากจะเข้าบ้าน ก็ต้องรอคอยจนกว่าจะเขาหรือภรรยาสังเกตเห็น เพราะฉะนั้นแล้วเขาจึงคิดได้ว่า ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อนายท่านแล้วล่ะ!!

 

 

แต่แทนที่จะเสริมประตูน้อยหรือเปลี่ยนบานประตู เขาเลือกใช้ทักษะด้านเทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหา ด้วยการติดตั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ ผนวกเข้ากับระบบตรวจจับการเคลื่อนไหว การจดจำใบหน้า และแอปพลิเคชั่นข้อความ ซึ่งเขาก็ใช้เวลาทำเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้นเอง

 

 

จุดเริ่มต้นการโคจรมาเจอกันระหว่างนายท่านกับทาสนั้น เกิดขึ้นไม่กี่ปีที่ผ่านมาเมื่อ Arkaitz และภรรยาสังเกตเห็นเจ้าเหมียวอยู่บนระเบียงหลังบ้าน โดยไม่รู้ว่ามีสถานะแล้วหรือเป็นเพียงแมวจรทั่วไป ก็เลยพาเข้าบ้านพร้อมกับประกาศหาเจ้าของเสียก่อน…

แต่แล้วก็พบว่าแมวตัวนี้มีเจ้าของแล้ว อยู่บ้านถัดไปเพียงไม่กี่หลังเท่านั้น แต่ทว่าพวกเขาก็ยินดีร่วมเลี้ยง กลายเป็นว่าเจ้าเหมียวมี 2 ครอบครัวไปโดยปริยาย

เมื่อเขาไม่รู้ว่าเจ้าเหมียวจะมาเวลาไหน ก็เลยต้องใช้ทักษะที่มีการสร้างระบบจดจำใบหน้าให้นายท่าน ติดตั้งเอาไว้บริเวณประตู เมื่อไรก็ตามที่นายท่านแวะมาเยี่ยมเยียน ระบบจะทำการส่งข้อความ “เปิดประตูเดี๋ยวนี้” ส่งไปให้เขาได้ออกมาเปิดบ้านต้อนรับอย่างอบอุ่น

 

ระบบแจ้งเตือนด้วยข้อความ “เปิดประตูเดี๋ยวนี้!”

 

“เราอยากให้มีการแจ้งเตือนเมื่อเจ้าเหมียวแวะเวียนมาหา เพื่อที่เราจะได้ไปเปิดประตูหลังบ้านให้เข้ามาได้ เพราะบ้านของเราไม่มีประตูแมว

ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่ตรวจจับการเคลื่อนไหวได้ ระบบก็จะส่งรูปภาพไปยังส่วนจดจำใบหน้า โดยจะทำการเปรียบเทียบกับรูปภาพเก่าๆ ที่เคยถ่ายเก็บไว้” Arkaitz อธิบายหลักการทำงานของระบบดังกล่าว

ถ้าระบบตรวจสอบแล้วว่าเป็นแมวตัวเดิม ไม่ใช่แมวตัวอื่นๆ หรือเศษขยะลอยปลิวมาขวางทางกล้อง ก็จะทำการส่งข้อความไปบอกให้นาย Arkaitz ไปเปิดประตูซะ!!

 

นี่สินะ ที่เขาเรียกกันว่า ‘แก้ปัญหาด้วยวิถีวิศวกร’

ที่มา : businessinsider, odditycentral

Comments

Leave a Reply