งานวิจัยไขข้อสงสัยว่า ‘เงิน’ สามารถซื้อความสุขให้เราได้จริงๆ หรือเปล่า

หลายคนคงเคยได้ยินใช่ไหมว่า “เงินนั้นไม่สามารถซื้อได้ทุกอย่าง” หรือ “เงินนั้นซื้อความสุขไม่ได้” และเชื่อว่าหลายๆ ท่านก็คงใช้ประสบการณ์ของตนเองตอบได้ทันทีว่าคำพูดเหล่านั้นเป็นจริงดังว่าหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนก็จะต้องมีคำตอบเป็นของตัวเอง และเกิดเป็นประเด็นถกเถียงกันในที่สุด

วันนี้ คำถามที่ว่า “เงินซื้อความสุขได้หรือไม่?” ได้มีการศึกษากันอย่างเป็นวิทยาศาสตร์แล้ว โดยนักวิทยาศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเออร์ไวน์ ที่ได้ทำการศึกษาว่า ต้องใช้เงินมากขนาดไหนถึงทำให้คนรู้สึกได้ถึงความสุข ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ยังได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Emotion โดย American Psychological Association อีกด้วย

 

 

มีงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ศึกษาถึงรูปแบบการเข้าสังคมแบบมุ่งเน้นตนเอง หรือมุ่งเน้นผู้อื่น จำแนกตามแต่ละชนชั้นทางสังคม โดยภายหลัง นักวิทยาศาสตร์ชื่อว่า Paul K. Piff กลุ่มนักศึกษา และผู้ช่วยวิจัย จึงพยายามจะขยายผลโดยการใช้ข้อมูลรายได้ในครอบครัวของแต่ละคนจากงานวิจัยก่อนหน้ามาใช้เทียบกับการเกิดอารมณ์ต่างๆ ทั้ง 7 ที่เป็นองค์ประกอบของความสุข ได้แก่ อารมณ์ขัน ความกลัว ความเห็นอกเห็นใจ ความพึงพอใจ ความกระตือรือร้น ความรัก และความภาคภูมิใจ

 

 

ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ การที่ได้รายได้สูงนั้นสัมพันธ์กันกับอารมณ์พึงพอใจ ภาคภูมิใจ และอารมณ์ขัน ซึ่งอารมณ์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มุ่งเน้นไปยังตนเอง ในขณะที่การมีรายได้ต่ำนั้นสัมพันธ์กันกับอารมณ์ที่มุ่งเน้นไปยังผู้อื่น ได้แก่ ความเห็นอกเห็นใจ ความรัก และความกลัว

 

 

สำหรับผลการศึกษาที่ออกมานั้น คณะผู้วิจัยได้สรุปว่า “ความภาคภูมิใจและความพึงพอใจอาจจะสะท้อนได้ถึงชนชั้นสูงในสังคมที่ต้องการความเป็นส่วนตัว ส่วนความรัก ความเห็นอกเห็นใจนั้นก็จะสะท้อนชนชั้นล่างเพราะความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้อื่นจะช่วยให้พวกเขาอาศัยอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมแย่ๆ ได้”

หากจะหาข้อสรุปว่ามีเงินเยอะหรือน้อยจะสุขมากกว่ากันนั้นอาจจะทำได้ยาก เพราะจากผลที่ได้รับ ความสุขของแต่ละคนนั้นขึ้นอยู่กับว่าขณะนั้นพวกเขาพบเจอสถานการณ์อย่างไร และก้าวผ่านมันไปได้ด้วยวิธีไหนมากกว่า นั่นแหละที่สะท้อนถึง “ความสุข”

 

 

ที่มา: rd

Comments

Leave a Reply