ชีวิตที่ต้องดิ้นรนของผู้สูงอายุในเกาหลี ไร้ลูกหลานเหลียวแล จนต้องกลายมาเป็นคนเร่ร่อน…

หากเราพูดถึงประเทศเกาหลีใต้เราคงจะนึกถึงสื่อบันเทิงหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ เพลง วัฒนธรรมป็อปต่างๆ ที่สร้างปรากฎการณ์ไปทั่วโลก

แต่ใครจะรู้ว่าเบื้องหลังม่านวัฒนธรรมป็อปเหล่านั้น ยังคงมีประชากรกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากคนรุ่นใหม่ และนับวันจะมีคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำลงไปเรื่อยๆ

 

 

จากการสำรวจข้อมูลประชากรในปี 2016 ระบุว่ากว่าครึ่งหนึ่งของประชากรชาวเกาหลีใต้มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป (สังคมผู้สูงอายุ) และยังมีฐานะที่ยากจน

กว่า 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุต้องอาศัยอยู่ตามลำพัง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า แถมยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นสูงในปีต่อๆ ไปด้วย

 

 

หากเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เท่ากับว่าคนรุ่นใหม่ที่กำลังขับเคลื่อนประเทศให้เจริญรุ่งเรืองในยุคนี้ จะกลายมาเป็นคนเร่ร่อน อาศัยอยู่คนเดียวในช่วงบั้นปลายของชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยตามขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวเอเชียที่เราคุ้นเคยกันก็คือ การอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่และบุตรหลายจะดูแลผู้สูงอายุเป็นอย่างดี ส่วนสังคมเกาหลีปัจจุบันกลับตรงกันข้ามไปเลย

แต่กว่าที่ชาวเกาหลีใต้จะต้องกลายมาเป็นผู้สูงอายุแบบโดดเดี่ยวอย่างที่เห็นนี้ มันประกอบด้วยหลายปัจจัยมากมายหลายสิ่ง เราลองมาไล่ดูกันไปเป็นข้อๆ เลย

 

 

ความอดอยาก

Madam Kim วัย 86 ปี ถือเป็นหนึ่งในคนเฒ่าคนแก่ที่ต้องอยู่บ้านคนเดียว คอยเก็บเศษขยะข้าวของต่างๆ ตามตรอกซอกซอยเพื่อนำไปขายกับร้านขายของเก่าต่อไป และนำเงินที่ได้อันน้อยนิดมาประทังชีวิตไปวันๆ

คุณยาย Madam Kim เล่าว่า “ฉันทำงานแบบนี้เพราะต้องนำเงินมาซื้อยาและฉันก็ต้องซื้ออาหารด้วย ถ้าฉันหิวมากๆ ฉันจะดื่มน้ำมากๆ กินอาหารราคาถูก จากนั้นก็จะทำงานต่อได้”

 

 

แก่แล้วยังต้องค้าประเวณี

และเมื่อประชากรจำนวนมากมีอายุที่มากขึ้น ทำให้พวกเขาต้องทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเอง บางคนทำงานเล็กๆ น้อยๆ เช่นเก็บขยะขาย แต่บางคนก็เลือกที่จะขายตัวเพื่อหาเงิน ซึ่งดูจะเป็นวิธีที่แปลกสักหน่อย แต่ก็มีให้เห็นกันมาแล้ว เช่นในคลิปวิดีโอตัวนี้

 

ถูกลูกทอดทิ้ง และหลานไม่อยากกลับมาหา

ในบางครั้งการส่งเสียลูกๆ หลานๆ ก็เป็นเรื่องที่ทำให้พวกเขารู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจเช่นกัน อย่าง Madam Yim ที่แต่งงานกับสามีและส่งเสียเงินให้กับลูกๆ ทั้ง 5 คนจนถึงระดับอุดมศึกษา แต่พอพวกเขาเรียนจบแต่งงานก็แทบจะไม่มีใครกลับมาเหลียวแลเธอเลย

หากมีลูกๆ คนไหนก็ตามที่พาหลานมาเยี่ยมเธอ พวกเขาก็จะมาทีเดียวพร้อมๆ กัน และกลับไปพร้อมกันหมดเช่นกัน ซึ่งหลานๆ แต่ละคนก็ไม่อยากกลับไปเยี่ยมเธอด้วย เพราะกลัวเหล่าแมลงสาบที่อยู่รอบๆ บ้านของเธอ

 

 

การเสียสละของคนรุ่นเก่า

แนวคิดดังกล่าวนั้นเป็นเพราะผลพวงมาจาก การเป็นคนรุ่นเก่าที่ต้องเสียสละให้กับคนรุ่นใหม่ ในช่วงที่พวกเขายังมีแรงก็ยังคงทำงานอย่างแข็งขันเพื่อต่อสู้กับความยากจนในอดีต

เมื่อถึงจุดเปลี่ยนของประเทศที่พลิกพื้นจากวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆ พวกเขาก็ยังคงทำงานอย่างขยันขันแข็งเรื่อยมา เพราะทัศนคติที่ยังคงไม่เปลี่ยนไป

 

 

แต่ทว่าเมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว โลกที่หมุนไปไวกว่าตัวพวกเขาจะตามทัน แรงงานที่ใกล้หมดเรี่ยวแรงก็ถูกบีบบังคับให้เกษียณตัวเองก่อนกำหนด ทดแทนด้วยแรงงานรุ่นใหม่ ที่มีค่าจ้างถูกกว่า แต่มีไฟแรงกว่า

เมื่อไม่มีเงินดูแลลูกหลาน ก็ต้องพยายามหางานอย่างอื่นทำ แต่ทว่ามันก็ไม่มากพอที่จะดูแลได้ทั้งหมด จนในที่สุดเมื่อลูกหลานเติบโตขึ้น พวกเขาก็ทอดทิ้งไป เพื่อตามแสวงหาสิ่งที่พอจะทำได้มาประทังชีวิตตัวเองให้รอด มากกว่าการมาดูแลคนเฒ่าคนแก่ที่พวกเขามองว่าเป็นภาระ

 

ไม่อยากรบกวนลูกหลาน

แม้ว่ารายได้จากการทำงานเป็นคนเก็บขยะขายจะไม่เพียงพอเท่าที่ควร แต่เหล่าคนเฒ่าคนแก่ก็ไม่อยากจะเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากลูกๆ หลานๆ เท่าไหร่

ย้อนกลับไปในปี 2015 มีผลสำรวจจาก Statistics Korea ระบุว่ามีคนสูงอายุมากกว่า 58.5% ที่ยังคงต้องทำงานหาเลี้ยงชีพตัวเอง

 

 

สิ่งหนึ่งที่พอจะอธิบายเรื่องนี้ได้ก็คือ เหล่าผู้สูงอายุส่วนหนึ่งมองว่าพวกเขาล้มเหลวกับการเลี้ยงดูลูกหลาน จึงทำให้พวกเขาคิดไปว่าตัวเองไม่สมควรที่จะได้รับการตอบแทนหรือการช่วยเหลือ

คุณยาย Kim ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวช่วงท้ายว่า “ฉันจะดูแลตัวเองให้นานเท่าที่จะนานได้ จากนั้นฉันจะถอนเงินออมทั้งหมดไปไว้ที่โรงพยาบาลและตายที่นั่น โดยไม่บอกให้ลูกๆ รับรู้ ฉันคิดเอาไว้แบบนั้น”

 

 

ปัญหาแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่เฉพาะเกาหลีใต้เท่านั้น ที่ไทย เวียดนาม สิงคโปร์หรือแม้แต่เมียนมาร์เองก็มีเช่นกัน สิ่งที่พอจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้แบบง่ายๆ ควรจะเริ่มต้นที่ตัวของเราก่อนเป็นอันดับแรก

เราควรหันมามองว่าภายในครอบครัวของเรามีคุณตาคุณยายอยู่บ้างหรือเปล่า แล้วพวกเขามีความเป็นอยู่อย่างไรบ้าง? การกลับไปเยี่ยมเยียนพวกเขาบ่อยๆ ก็พอจะช่วยคลายความเหงาลงไปได้บ้างนะ

 

ที่มา channelnewsasia , CNA Insider

Comments

Leave a Reply