รู้จัก “การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่” ของสิ่งมีชีวิตทั้ง 5 ครั้ง ที่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์โลก!!

ใครๆ ต่างก็เคยได้ยินเรื่องอุกกาบาตครั้งใหญ่ ที่เป็นสาเหตุให้สิ่งมีชีวิตยุคไดโนเสาร์ต้องสูญพันธุ์ไป แน่นอนว่าหลายคนก็คงจะคิดว่ามันเป็นการสูญพันธุ์เพียงครั้งเดียวที่เคยเกิดขึ้นบนโลกใบนี้

แต่ทว่าจริงๆ แล้วการสูญพันธ์ุนั้นเกิดขึ้นมาแล้วมากถึง 5 ครั้งเลยทีเดียว ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เรารู้ได้ก็มาจากการที่นักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์ฟอสซิลจากใต้ทะเล

ทำให้พวกเขาพบว่า ก่อนหน้ายุคไดโนเสาร์ ได้มีการสูญพันธ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลกมาแล้วมากถึง 4 ครั้ง ว่าแต่จะมีอะไรบ้างเรามาดูกันเลยดีกว่า

 

1. ช่วง 430-440 ล้านปีก่อน

การสูญพันธุ์ยุคแรกรู้จักกันในชื่อว่า ยุคออร์โดวิเชียน (Ordivician) ซึ่งเป็นยุคที่สิ่งมีชีวิตประเภทปะการัง ไบรโอซัว และปลาหมึก อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

พอเข้าสู่ยุคไซลูเรียน (Sulurian) ก็เริ่มมีสิ่งมีชีวิตประเภทปลาที่มีขากรรไกรและสัตว์บกขึ้นเป็นครั้งแรก รวมถึงพืชที่ขยายพันธุ์ด้วยสปอร์

ส่วนสาเหตุของการสูญพันธุ์คาดว่าน่าจะเกิดจากน้ำทะเลลดระดับลง จากการก่อตัวเป็นก้อนน้ำแข็งยักษ์ และต่อมาน้ำทะเลเพิ่มระดับขึ้นกะทันหัน จากการละลายของก้อนน้ำแข็งขนาดยักษ์

ทำให้สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต 25% ในโลกต้องสูญพันธุ์ไป และคิดเป็น 60% ของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่อาศัยในน้ำทั้งหมดเลยทีเดียว

 

2. ช่วง 364 ล้านปีก่อน

ช่วงเวลานี้จะอยู่ในยุคดีโวเนียน (Devonian) ซึ่งเป็นยุคที่อเมริกาเหนือ-กรีนแลนด์ ยังรวมเข้ากับยุโรปอยู่ และเป็นยุคของปลาดึกดำบรรพ์ต่างๆ (แมลงได้เกิดขึ้นครั้งแรกในยุคนี้) แถมพืชจำพวกเมล็ดก็เริ่มขยายพันธุ์ออกไปจนเกิดเป็นป่าขึ้นมา

สาเหตุของการสูญพันธุ์ในยุคนี้ยังไม่มีสมมติฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอในการสรุปว่าอะไรเป็นสาเหตุกันแน่

แต่ทว่าผลลัพธ์ของเหตุการณ์นี้ทำให้สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไป 22% ซึ่งคิดเป็น 57% ของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่อาศัยในน้ำทั้งหมด

 

3. ช่วง 251 ล้านปีก่อน

การสูญพันธุ์ครั้งนี้สามนี้ นับเป็นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกเลยก็ว่าได้ ซึ่งมันเกิดขึ้นในยุคเพอร์เมียน (Permian) เป็นยุคที่ในทะเลมีแนวประการังและไบโอซัวร์

ยุคนี้เกิดการแพร่พันธุ์ของสัตว์บกและสัตว์เลื้อยคลานที่มีลักษณะคล้ายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นจำนวนมาก

ส่วนสาเหตุของการสูญพันธุ์ในยุคนี้มีข้อสมมติฐานถึง 3 อย่างด้วยกันนั่นก็คือ

สมมติฐานที่ 1 อุกกาบาตขนาดใหญ่ หรือดาวเคราะห์น้อยพุ่งเข้าชนโลก

สมมติฐานที่  2 ภูเขาไฟใต้น้ำระเบิด ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง

และสมมติฐานที่ 3 อุกกาบาตพุ่งเข้าชนโลก และไปกระตุ้นให้เกิดภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่ จึงส่งผลให้สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไป 95% ของจำนวนสายพันธุ์ทั้งหมดบนโลก

 

 

4. ช่วง 199-214 ล้านปีก่อน

ยุคไทรแอสสิก (Triassic) เป็นยุคเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิตใหม่ๆ หลังจากเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งที่สาม ทำให้สัตว์เลื้อยคลานที่มีลักษณะคล้ายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยุคเก่า ถูกแทนที่ด้วยสัตว์ที่เป็นต้นตระกูลของไดโนเสาร์

นอกจากนั้นสภาพผืนดินยังไม่อุดมสมบูรณ์เท่าไหร่นัก จึงไม่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืช ทำให้พืชพรรณส่วนใหญ่จึงเติมไปด้วยพืชจำพวก สน ปรง และเฟิร์นเป็นหลัก

ส่วนสาเหตุของการสูญพันธุ์ในยุคนี้ก็คือ ภูเขาไฟใต้น้ำระเบิดครั้งใหญ่บริเวณตอนกลางของมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งได้ปล่อยลาวาจำนวนมหาศาลออกมา และทำให้เกิดภาวะโลกร้อนขั้นวิกฤต

โดยนักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานการระเบิดจากหินภูเขาไฟที่ทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ทางตะวันออกของบราซิล และทางเหนือของแอฟริกาและสเปน

ทำให้สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยทั่วโลกสูญพันธุ์ไป 22%

 

5. ช่วง 65 ล้านปีก่อน

มาถึงการสูญพันธุ์ที่ทุกคนต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี เหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้นในยุคครีเตเซียส (Cretaceous) ซึ่งในยุคนี้เป็นยุคที่มีสิ่งมีชีวิตใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย

เช่น งู นก พืชมีดอกต่างๆ และไดโนเสาร์ที่เกิดการวิวัฒนาการให้มีนอ ครีบ และผิวหนังที่หนาสำหรับป้องกันตัว

ส่วนสาเหตุของการสูญพันธุ์ในยุคนี้ เชื่อว่าเกิดขึ้นจากดาวเคราะห์น้อยขนาดความกว้างหลายไมล์พุ่งเข้าชนโลก ทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตชิกซูลูบ (Chicxulub Crater) ที่บริเวณคาบสมุทรยูคาทัน (Yucatan Peninsula) และใต้อ่าวเม็กซิโก

และผลที่ตามมาก็คือ สิ่งมีชีวิตมากกว่า 70% บนโลกสูญพันธุ์ไปในที่สุด

 

แต่ทว่านอกจาก 5 เหตุการณ์ข้างต้นแล้ว นักวิทยาศาตร์ยังตั้งสมมติฐานไว้อีกว่าเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งที่ 6 น่าจะเกิดขึ้นในไม่ช้าอย่างแน่นอน ถ้ามนุษย์ยังคงใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในตอนนี้อย่างไม่เห็นคุณค่าต่อไป

จนสักวันหนึ่งอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อโลก จนมนุษย์จะต้องเจอเหตุการณ์ที่ทำให้สูญพันธุ์ไม่ต่างอะไรจากเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา

 

ฉะนั้นถ้าไม่อยากสูญพันธุ์ เราควรจะหาวิธีเตรียมรับมือมันได้แล้วนะ!!

ที่มา lesa,wikipedia

Comments

Leave a Reply