นักชีววิทยาแปลกใจ หลังพบซากนกหากินบนบกในท้องฉลาม คาดอาจตกทะเลในช่วงอพยพ

สำหรับสัตว์กินเนื้อผู้ได้ชื่อว่านักล่าแห่งท้องทะเลอย่างฉลามแล้ว มันเป็นเรื่องธรรมดาที่ในท้องของพวกมันจะมีซากสัตว์ที่ถูกทานเป็นอาหารอยู่มากมายหลายชนิด แต่ถึงอย่างนั้นในบางครั้ง สิ่งที่อยู่ในท้องของฉลามก็ทำให้เหล่านักชีววิทยาต้องแปลกใจได้เช่นกัน

 

 

นั่นเพราะเมื่อปี 2010 ที่ผ่านมา ในระหว่างที่ทีมนักชีววิทยาทำการสำรวจประชากรฉลามเสือ (Galeocerdo cuvier) ในทะเลแถบรัฐมิสซิสซิปปีและอลาบามา พวกเขาก็ต้องพบกับซากนกแปลกๆ อยู่ในท้องของฉลาม

เอาเข้าจริงๆ แล้วการที่ฉลามจะมีโอกาสกระโดดขึ้นมากินนกทะเลนั้นมันไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไร แต่ปัญหาคือนกที่ถูกพบในท้องฉลามครั้งนี้ กลับมีขนที่ไม่เหมือนนกทะเลแม้แต่น้อย

 

 

เมื่อเห็นดังนั้นเหล่านักชีววิทยาจึงได้ทำการส่งนกที่พบไปตรวจสอบ DNA อย่างละเอียดที่ห้องทดลอง และที่นั่นเองพวกเขาก็พบว่านกที่ถูกฉลามกินไปนั้น ไม่ใช่นกทะเลจริงๆ แต่เป็นนก “Brown Thrasher” (Toxostoma rufum) ซึ่งตามปกติจะหากินบนบกเป็นหลัก

นี่นับเป็นการค้นพบที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะเดิมทีแล้วแม้แต่นกทะเลอย่างนกนางนวลและนกกระทุงเอง เรายังพบมันในท้องฉลามไม่ค่อยบ่อยนัก แต่ในการสำรวจประชากรฉลามเสือครั้งนี้ นักชีววิทยากลับพบนกที่อาศัยอยู่บนบกในท้องฉลามถึง 41 ตัว จากทั้งหมด 105 ตัว

 

 

สำหรับคำถามที่ว่าทำไม ฉลามถึงสามารถกินนกซึ่งอาศัยอยู่บนบกได้มากขนาดนี้ ทีมนักชีววิทยาคาดการณ์ว่าน่าจะมาจากการที่นกเหล่านี้ถูกพายุพัดไปในระหว่างฤดูอพยพ ดังนั้นพวกมันบางส่วนจึงตกลงไปในทะเลและถูกกินโดยฉลามต่อไปนั่นเอง

อนึ่ง การค้นพบในครั้งนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Ecology เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2019 ที่ผ่านมา ซึ่งหากเพื่อนๆ สนใจก็สามารถเข้าไปอ่านข้อมูลการค้นพบได้ ที่นี่

 

ที่มา livescience, sciencealert

Comments

Leave a Reply