พบปล่องน้ำร้อนแห่งใหม่ใต้ทะเลกอร์เตส พร้อม “หอคอยแร่” ที่สวยราวหลุดมาจากเทพนิยาย

ลึกลงไปในอ่าวกาลิฟอร์เนีย (หรือทะเลกอร์เตส) ราวๆ 1,200 เมตรในระหว่างที่เหล่านักวิทยาศาสตร์ทำการศึกษาปล่องน้ำร้อนใต้ทะเล (Hydrothermal vent) และสภาพแวดล้อมที่เรียกกันว่า Cold Seeps พวกเขาก็ได้พบกับพื้นที่ปล่องน้ำร้อนใต้ทะเลแห่งใหม่ ที่มีความงดงามราวกับหลุดมาจากในเทพนิยาย

ในพื้นที่นั้นนักวิทยาศาสตร์ได้พบกับ “หอคอย” ที่เกิดจากการสะสมของแร่ธาตุ ที่มีความสูงถึง 23 เมตร และมีจุดเด่นอยู่ที่รูปร่างที่คล้ายจานแบนๆ ลอยอยู่กลางอากาศ ซึ่งมีลักษณะพื้นผิวคล้ายกระจก ที่หากมองจากด้านล่างแล้วจะทำให้เรารู้สึกราวกับว่ากำลังมองอะไรที่ไม่ได้เกิดขึ้นบนโลกเลย

 

 

แถมที่น่าสนใจคือ พื้นที่ที่มีการค้นพบภูเขาแร่อันนี้นั้น จริงๆ แล้วเคยมีการสำรวจมาก่อนแล้วเมื่อสิบกว่าปีก่อน แถมในเวลานั้นนักวิทยาศาสตร์ยังไม่พบร่องรอยใดๆ เลยที่จะนำมาสู่หอคอยแร่ที่มีความสูงขนาดนี้ได้

ดังนั้นเหล่านักวิทยาศาสตร์จึงให้ความเป็นไปได้ว่าช่วงเวลาสักช่วงหนึ่งในระหว่างปี 2008-2019 ปล่องน้ำร้อนใต้ทะเลน่าจะมีปริมาณการปล่อยความร้อนออกมาที่มากขึ้น จนทำให้พื้นที่รอบๆ กลายเป็นหอคอยแร่แบบนี้ได้ในเวลาสั้นๆ

นี่นับเป็นการค้นพบที่สำคัญมากๆ ครั้งหนึ่งสำหรับทีมนักวิทยาศาสตร์ชุดนี้เลยก็ว่าได้ เพราะหอคอยแร่ที่พวกเขาพบนั้นไม่เพียงแต่จะเป็นอะไรที่มีความงดงามมากเท่านั้น แต่มันถือว่าเป็นระบบนิเวศ หายากที่จะดึงดูดสิ่งมีชีวิตแปลกๆ ที่เราอาจไม่เคยพบมาก่อนให้มาอาศัยอยู่ด้วย

 

.

 

อย่างในเบื้องต้นเองทีมนักวิทยาศาสตร์ก็พบกับสิ่งมีชีวิตที่หาชมได้ยากอย่างจุลินทรีย์ สเกลเวิร์ม และหนอนท่อยักษ์ (giant tube worm) อาศัยอยู่ในพื้นที่ด้วยสารเคมีจากปล่องน้ำร้อนมาแล้วด้วย แถมสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ยังมีสีสันที่งดงามมากไม่แพ้หอคอยแร่เอง

แต่แม้ว่าที่แห่งนี้จะงดงามมากแค่ไหนก็ตาม มันก็ยังคงมีสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์รู้สึกเสียดายอยู่ดี เพราะภายในระบบนิเวศที่ราวกับหลุดมาจากความฝันนี้ พวกเขากลับสามารถพบกับขยะจากฝีมือมนุษย์จำนวนมาก ตั้งแต่แหตกปลา ลูกโป่ง หรือแม้แต่ต้นคริสต์มาสที่ถูกทิ้ง

 

 

ดังนั้นเหล่านักวิทยาศาสตร์จึงหวังเป็นอย่างยิ่งกว่าการนำภาพอันงดงามเหล่านี้ออกมาเผยแพร่ นอกจากจะทำให้คนสนใจในชีวิตใต้น้ำมากขึ้นแล้ว พวกเขาจะสามารถทำให้คนตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศ และเลิกทิ้งขยะลงทะเลต่อไปด้วย

 

วิดีโอสรุปการค้นพบ โดยช่อง Schmidt Ocean

 

ที่มา smithsonianmag, livescience, marinetechnologynews และ sciencealert

Comments

Leave a Reply