อียิปต์ประกาศ การบูรณะสุสานฟาโรห์ตุตันคาเมนเสร็จสิ้นแล้ว หลังดำเนินการมาร่วม 10 ปี

ตั้งแต่ที่มีการค้นพบ “KV62” สุสานของฟาโรห์ตุตันคาเมน (หรือ ตุตันคามุน) ในปี 1922 สถานที่แห่งนี้ก็กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดของอียิปต์ ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากในแต่ละปี

ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะในขณะที่สุสานอื่นๆ ที่เคยมีการพบมามักจะอยู่ในสภาพที่เสียหายอย่างหนัก สุสาน KV62 กลับอยู่ในสภาพที่ดีมากจนถึงขนาดที่ว่าภาพฝาผนังภายในยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์แม้ผ่านกาลเวลามากว่า 3,000 ปี

 

 

แต่แม้ว่าสุสาน KV62 จะมีสภาพดีแค่ไหนก็ตาม การที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้ามาในที่แห่งนี้อยู่เสมอก็ทำให้สุสาน KV62 เริ่มที่จะเกิดความเสียหายอยู่ดี ดังนั้นในช่วงปี 2008 สุสานแห่งนี้ก็ต้องเข้าสู่การบูรณะครั้งใหญ่จนได้

โปรเจกต์ที่ว่านี้จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือของกระทรวงโบราณวัตถุอียิปต์ และสถาบันอนุรักษ์เก็ตตี้ (GCI) แห่งลอสแองเจลิส

พวกเขามีเป้าหมายหลักอยู่ที่การซ่อมแซมภาพฝาผนัง การติดตั้งระบบระบายอากาศใหม่ และการหาต้นต่อของรอยจุดสีน้ำตาลที่อยู่บนภาพ ซึ่งเคยถูกเชื่อกันว่าอาจจะเป็นเชื้อราจากในอดีต

 

 

หลังจากที่การบูรณะดำเนินการไปได้นานกว่า 10 ปี ในที่สุดเมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา ทางกระทรวงโบราณวัตถุอียิปต์ก็ได้ออกมาประกาศว่าการบูรณะสุสาน KV62 ได้เสร็จสิ้นลงอย่างสมบูรณ์แล้ว

โดยทาง GCI ได้ออกมาเปิดเผยว่าจุดสีน้ำตาลที่อยู่บนภาพของฟาโรห์ตุตันคาเมนนั้นได้ เป็นจุลินทรีย์จากสมัยก่อนจริงๆ แต่ก็ตายไปเป็นเวลานานมากแล้ว โดยจะสังเกตได้จากการที่มันไม่ได้เติบโตขึ้นเลยตั้งแต่เมื่อปี 1922 ที่มีการค้นพบ

 

 

อย่างไรก็ตามก่อนที่จะตายไปจุลินทรีย์เหล่านี้ก็ได้กระจายลงไปยังตัวภาพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้ทีมบูรณะสุสานไม่สามารถกำจัดจุลินทรีย์เหล่านี้ได้โดยไม่ทำลายตัวภาพ

โปรเจกต์บูรณะสุสานในครั้งนี้นับว่าเป็นโปรเจกต์ที่ค่อนข้างแปลกมากเลยก็ว่าได้ เพราะตลอดช่วงเวลาที่มีการบูรณะตัวสุสานเองก็ไม่ได้มีการปิดรับนักท่องเที่ยวแต่อย่างใด แถมหากนักท่องเที่ยวสนใจในการทำงานของทีมงานพวกเขายังได้รับอนุญาตให้ตอบคำถามของนักท่องเที่ยวอย่างอิสระด้วย

 

 

และแน่นอนว่าเมื่อการบูรณะสุสานจบลงไปได้ด้วยดีเช่นนี้ ทางทีมงานก็เชื่อมั่นเป็นอย่างมากว่า สุสาน KV62 จะมีสภาพสมบูรณ์พร้อมรับการมาของนักท่องเที่ยวในอนาคตไปได้อีกนานหลายปีเลย

 

ที่มา dailymail และ livescience

Comments

Leave a Reply