Phatwa Senene นักประดิษฐ์ผู้เรียนรู้ด้วยตัวเองผ่าน YouTube พัฒนาคุณภาพเทศบาลเมือง

ในยุคที่ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต มันก็กลายมาเป็นแหล่งเรียนรู้ขนาดใหญ่ไม่รู้จบสำหรับผู้ใฝ่เรียน หากมีความสนใจในด้านไหน ก็มุ่งตรงไปยังด้านนั้นๆ เพิ่มเสริมสร้างความรู้ให้กับตนเอง

และบุคคลธรรมดาจากแอฟริกาใต้ผู้นี้ ก็ได้กลายมาเป็นนักประดิษฐ์ตัวยงแห่งเมืองโจฮันเนสเบิร์ก เขาชื่อว่า Phatwa Senene นักประดิษฐ์ที่ช่วยเปลี่ยนแปลงเมืองไปในทิศทางที่ดีขึ้น ผ่านการลงมือทำด้วยตัวเอง

 

 

แนวคิดของเขานั้น มาจากความใฝ่รู้ในการประดิษฐ์และดัดแปลงอุปกรณ์ต่างๆ เขาสนใจการสร้างอุปกรณ์มาตั้งแต่อายุ 11 ปี

โดยอุปกรณ์ชิ้นแรกที่เขาสร้างนั้นก็คือการทำสว่านมอเตอร์พัดลมบ้านๆ เพื่อเจาะรูบนกำแพงห้องนอนของตัวเอง ซึ่งพัดลมสว่านนี้ ก็สามารถใช้งานได้จริง แถมยังมีฟังก์ชั่นของพัดลมช่วยเป่าเศษฝุ่นให้ออกไปจากบริเวณทำงานได้เป็นอย่างดี

 

 

มาจนถึงช่วงที่ต้องเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เขาไม่มีโอกาสได้เรียนต่อเนื่องจากครอบครัวยากจน มาจนกระทั่งในวันนี้ Phatwa ในวัย 33 ปี ก็ไม่ได้หยุดการเรียนรู้ของตัวเอง เขามาพร้อมกับนวัตกรรมการประดิษฐ์ที่ไม่หยุดนิ่ง จนกระทั่งเข้าตาของเทศบาลเมืองและบริษัทหลายๆ แห่งของแอฟริกาใต้

 

 

อุปกรณ์ต่างๆ ที่เขาสร้างขึ้นมานั้น ก็มาจากแรงบันดาลใจรอบๆ ตัว จากการเติบโตภายในชุมชนเมืองโจฮันเนสเบิร์ก และตั้งใจพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญ และเริ่มต้นทำการประดิษฐ์อุปกรณ์ต่างๆ ด้วยการเรียนรู้ผ่านคลิปวิดีโอใน YouTube

 

 

ตัวอย่างงานที่เขาสร้างขึ้นมาเพื่อเทศบาลเมือง เช่น ไม้กวาดแจ้งตำรวจ สำหรับเจ้าหน้าที่กวาดถนนของเทศบาล หากพบเห็นบุคคลทิ้งขยะแบบผิดกฎหมาย ก็สามารถกดปุ่มแจ้งสายด่วนได้ทันที

 

 

กดปุ่มแจ้งสายด่วน รายงานบุคคลทิ้งขยะเรี่ยราด

 

หรือแม้แต่อุปกรณ์ตรวจจับท่อประปารั่วตัวนี้ ที่สามารถรายงานและระบุตำแหน่งท่อรั่ว ให้ทางเทศบาลเมืองทราบได้ทันที…

 

 

รวมไปถึงเหรียญรางวัลในกีฬา ที่แนบไปพร้อมกับชุดเก็บข้อมูลภาพและวิดีโอในงานแข่งต่างๆ ให้กับผู้รับเหรียญได้นำไปใช้เก็บข้อมูลอื่นๆ ในอนาคต

 

 

ล่าสุดนี้ ผลงานประดิษฐ์ไฟถนน ที่สามารถเก็บข้อมูลมลพิษทางเสียงและอากาศบนท้องถนนได้ ก็ถูกนำร่องไปใช้งานภายในเมืองแล้ว

 

 

ทั้งนี้ Phatwa เชื่อว่า การสร้างหรือประดิษฐ์อุปกรณ์ต่างๆ ขึ้นมา ต้องนำมาใช้แก้ปัญหาในสังคมได้ โดยเฉพาะในสังคมที่กำลังพัฒนาอยู่ เพราะก่อนที่จะพัฒนาไปได้ ปัญหาที่มีอยู่ต้องถูกกำจัดให้หมดไปเสียก่อน

 

 

ที่มา: voanews, @RedBull


Tags:

Comments

Leave a Reply