แม่แชร์ประสบการณ์ ‘เลี้ยงลูกกับแมว’ ความสุขที่หาจากไหนไม่ได้ แม้ต้องเหนื่อยคูณ 2

เราหลายคนมักจะได้ยินถูกปลูกฝังว่าคนท้อง คนมีลูกเล็ก ‘ห้ามเลี้ยงแมว’ เพราะจะทำให้เด็กหายใจเสียงเหมือนแมว เป็นโรคหอบหืด ขนแมวเข้าปอด หรืออาจโดนแมวทำร้ายได้

คุณ Chirarat Ratthanakij เป็นหนึ่งในคุณแม่ลูกอ่อนที่เจอเรื่องแบบนี้มากับตัว คือเธอถูกคนรอบข้างติเรื่องเลี้ยงแมวกับลูกน้อย

 

 

ย้อนกลับไปก่อนที่คุณ Chirarat จะคลอดลูก ขณะที่กำลังท้องแก่ เธอได้เจอแมวดำตัวหนึ่งที่จังหวัดระยอง และได้ตั้งชื่อให้มันว่า พี่ก๊วย หรือชื่อในวงการ ชาร์โคล 

ความตั้งใจเดิมของคุณ Chirarat คือ อยากกลับมาคลอดที่เชียงใหม่ ในโรงพยาบาลเอกชน แต่เมื่อได้เจอพี่ก๊วย ดูเหมือนเธอมาถึงจุดที่ต้องเลือก

 

 

คุณแม่ต้องเลือกระหว่างได้คลอดในโรงพยาบาลเอกชนสวยๆ หรู แต่ต้องทิ้งพี่ก๊วยไปที่นี่ กับพาพี่ก๊วยกลับไปด้วย แต่ต้องคลอดในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งอาจไม่สวยหรูอย่างที่คิด

เมื่อคุณแม่ลองมาคิดดูดีๆ แล้ว ยังไงเธอก็ทิ้งพี่ก๊วยไม่ลง ในที่สุด เธอก็ตัดสินใจพามันไปด้วย ซึ่งกว่าจะพาขึ้นเครื่องได้ เธอต้องเสียเงินฉีดวัคซีนให้มัน ตรวจสุขภาพ และซื้อกรง ยังไม่รวมค่าตั๋วสำหรับ 1 คน กับ 1 ตัว อีกไม่ต่ำกว่า 4,000 บาท

 

 

พี่ก๊วยคือแมวตัวแรกที่คุณ Chirarat ได้เลี้ยง ก่อนหน้านี้เธอคิดว่าแมวคงไม่รู้เรื่องเหมือนสุนัข อย่างมากแมวก็คงกิน นอน เล่น และไม่สนใจมนุษย์

แต่ปรากฏว่าเธอคิดผิดถนัดเลย เพราะพี่ก๊วยไม่ใช่แค่แสนรู้ธรรมดา แต่มันรู้ว่าคุณแม่ท้อง รู้ว่าตัวเองจะมีน้องตั้งแต่ถูกเก็บมาเลี้ยงใหม่ๆ  ทั้งๆ ที่ตอนนั้นมันอายุไม่ถึง 1 เดือนด้วยซ้ำ

 

 

พี่ก๊วยชอบมานอนบนท้องคุณแม่ คอยตบท้องเบาๆ เมื่อไหร่ที่น้องถีบท้องแม่ มันจะตบกลับทันที ดูเหมือนลูกน้อยในท้องกับเจ้าเหมียวจะเล่นด้วยกันและผูกพันกันตั้งแต่ยังไม่เคยเห็นหน้า

เมื่อถึงวันที่คุณแม่จะคลอดลูก เธอมักจะเข้าห้องน้ำบ่อยๆ แต่คนที่ดูจะอาการหนักกว่า เห็นจะเป็นพี่ก๊วย เพราะมันไม่เป็นอันจะกินเลย ข้าวปลาไม่ยอมแตะ มันเอาแต่ร้องวิ่งวนไปวนมา เดินมาถูท้องแม่บ้าง ชนท้องบ้าง เหมือนรู้ว่าน้องใกล้จะออกแล้ว

และแล้ววันนั้น คุณแม่ก็ไปคลอดในโรงพบาล

 

 

หลังจากคลอดเสร็จ พักฟื้นสักระยะ จนคุณหมออนุญาตให้กลับบ้านได้ คุณ Chirarat ก็พาลูกน้อยกลับบ้าน ทันทีที่ถึงบ้าน เธอหวังว่าพี่ก๊วยจะวิ่งเข้ามาทักทายเหมือนทุกครั้ง

แต่ปรากฏว่าพี่ก๊วยแทบจะไม่เหลียวมองคุณแม่เลย มันพุ่งเข้าไปหาน้องสาวตัวน้อย จ้องมองเธอด้วยความตื่นเต้น และพยายามจะเล่นกับเธอ

 

 

อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด เพราะคนรอบข้างยังคอยพูดติคุณ Chirarat อยู่เสมอ ในเรื่องการเลี้ยงลูกกับแมว ซึ่งแน่นอน คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ทั้งๆ ที่ตัวคุณแม่ไม่เห็นว่าเจ้าเหมียวจะสร้างปัญหาอะไรให้เลย

จนกระทั่งวันหนึ่ง ลูกน้อยเกิดป่วย คุณแม่ก็พาลูกไปโรงพยาบาล คุณหมอบอกว่าเสมหะลงปอด ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับพี่ก๊วยเลยแม้แต่น้อย

 

 

แต่คนที่มาเยี่ยมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นเพราะเธอเลี้ยงลูกไว้กับแมว เป็นเพราะพี่ก๊วย… คำพูดเหล่านี้ ทำให้คุณแม่จิตตก จนถึงขั้นประกาศหาบ้านให้พี่ก๊วย แน่นอนว่านั่นเป็นสิ่งที่เธอไม่อยากทำเลยสักนิด

โชคดีที่มีใครคนหนึ่งทักเข้ามาหาคุณแม่ในแชท และเตือนสติคุณแม่ว่า ไม่จำเป็นต้องหาบ้านใหม่ให้น้องแมว เพราะคุณแม่ได้เลือกรับเจ้าเหมียวเข้ามาในชีวิตตั้งแต่แรกแล้ว

 

 

คนคนนั้นยังบอกอีกว่าหากให้แมวกับคนอื่น แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเค้าคนนั้นจะเลี้ยงได้ดีเท่าเรา จะรักน้องเหมือนลูก จะกินอิ่น นอนอุ่น หรือปลอดภัยมั้ย

คำพูดเหล่านี้ทำให้คุณ Chirarat คิดได้ เธอจึงตัดสินใจโพสต์ประกาศหาบ้านแมว และเลี้ยงพี่ก๊วยต่อไป โดยไม่สนใจคำพูดของคนรอบข้าง 

 

 

เวลาผ่านไป เหตุการณ์หลายอย่างทำให้เธอรู้สึกว่าได้ตัดสินใจถูกต้องแล้ว เพราะพี่ก๊วยกับลูกสาวโตมาด้วยกันโดยไม่มีปัญหาใดๆ เลย พวกเขากลายเป็นเพื่อนรักกัน และแชร์ความรักให้กันและกัน

กลับกลายเป็นว่า Chirarat เหมือนเลี้ยงลูกน้อย 2 คน ต้องคอยรับมือกับความซนของเด็กๆ เป็น 2 เท่า โดยเฉพาะตอนที่ทั้งคู่แย่งหลอดดูดกัน 

 

 

ปัจจุบันลูกน้อยอายุ 9 เดือนแล้ว ในขณะที่พี่ก๊วยอายุ 1 ขวบ ทั้งคู่เข้ากันได้เป็นอย่างดี เด็กน้อยรู้จักแบ่งของเล่นให้พี่แมวโดยที่ไม่มีใครสอน รู้จักกอดและหอมแมว ทั้งๆ ที่ยังไม่กอดหรือหอมแม่ด้วยซ้ำ

คุณแม่บอกว่าการเห็นความมิตรภาพแสนอบอุ่นระหว่างลูกน้อยกับแมวเหมียว ทำให้เธอมีความสุข อุ่นใจ แม้ต้องเหนื่อยเป็น 2 เท่าก็ตาม

 

 

นอกจากนี้ คุณแม่ยังฝากบอกคนที่จะเลี้ยงลูกกับแมวว่า มันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ใครๆ คิด คุณแค่จะรู้สึกเหมือนมีลูกแฝดในเวลาเดียว เจอความซนคูณ 2 เหนื่อยคูณ 2

คุณจะเสียเงินเพิ่มนอกจากค่านมผง แพมเพิส เพราะต้องซื้อทรายแมว อาหารแมว ขนมแมว และท้ายที่สุดคุณจะทำให้สังคมเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับแมว

 

 

น้องสนใจแต่พี่แมว ไม่สนใจแม่เลย

 

พี่ก๊วยๆ วันนี้เล่นไรกันดี?

 

เหมียวกับเด็กน้อยแทบจะตัวติดกันตลอดเวลา

 

ศึกแย่งหลอดกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว

 

ยิ่งโต ความผูกพันยิ่งแน่นแฟ้น

 

ที่มา Chirarat Ratthanakij


Tags:

Comments

Leave a Reply