รู้หรือไม่ ในยุคที่สหรัฐฯ ห้ามขายสุรา เคยมีการใช้ “รองเท้ากีบวัว” เพื่อตบตาสายตรวจด้วย

ในช่วงปี 14 ปี ระหว่างปีคริสต์ศักราช 1919-1933 เป็นช่วงที่สหรัฐอเมริกาห้ามขายเครื่องดื่มมึนเมาในประเทศอย่างเด็ดขาด

นั่นทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศกลายเป็นของผิดกฎหมาย ที่หากอยากจะดื่มจริงๆ ก็ต้องมีการซื้อขายกันแบบหลบๆ ซ่อนๆ ราวกับยาเสพติด

 

หน่วยดูแลและปราบปรามเครื่องดื่มมึนเมา กับการทำลายสุราที่ยึดมาได้ในสมัยนั้น

 

ด้วยเหตุนี้เอง สุราในสมัยนั้นจึงถูกผลิตและแอบขายโดยแก๊งใต้ดินหรือกลุ่มมาเฟีย และทำกันในที่ลับตาอย่างในป่าในเขา จนรอยเท้ากลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือชิ้นสำคัญที่ทางตำรวจใช้ตามตัวของคนร้ายไป

และเมื่อสมาชิกของแก๊งเริ่มถูกจับบ่อยเข้า ทางแก๊งใต้ดินและกลุ่มมาเฟียก็ได้เริ่มหาทางป้องกันการแกะรอยเท้าของทางตำรวจขึ้นมา โดยหนึ่งในวิธีการที่พวกเขาใช้ก็คือการใส่รองเท้ากีบวัวนั่นเอง

 

 

นี่เป็นรองเท้าแบบพิเศษที่ได้รับการดัดแปลงส่วนพื้นรองเท้าใช้มีลักษณะเหมือนกีบของสัตว์ ด้วยการติดแผ่นไม้ ที่ตัดแต่งมาอย่างดีลงไป

จริงอยู่ที่ว่ารองเท้าในรูปแบบนี้จะทำให้ผู้ใส่เดินยากขึ้นมาก แต่ในขณะเดียวกันมันก็ช่วยปลอมแปลงรอยเท้าของพวกเขาจนต่อให้ตำรวจที่ลาดตระเวนในป่ามาเห็นเข้าก็คิดเพียงแค่ว่าเป็นรอยเท้าของสัตว์เท่านั้น

 

แผ่นไม้ที่ติดใต้รองเท้าจะเป็นตัวแทนของทั้งเท้าหน้าและเท้าหลังของวัวไปพร้อมๆ กัน

 

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่ารองเท้าแบบนี้จะไม่ใช่สิ่งที่ใช้งานได้เสมอไป เพราะในสมัยนั้นกรมตำรวจก็ได้มีการยึดรองเท้าในรูปแบบนี้เป็นหลักฐานไว้จำนวนหนึ่ง แถมในปี 1922 เองก็มีหนังสือที่ตีพิมพ์เกี่ยวกับรองเท้าแบบนี้ออกมาเช่นกัน

นั่นเป็นหลักฐานอย่างดีว่าแม้จะมีการใช้รองเท้าดังกล่าวตำรวจก็สามารถตามจับคนแอบขายสุราได้อยู่ดี ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การใช้รองเท้าแบบนี้จะค่อยๆ ลดลงไปในช่วงปลายของยุคห้ามขายเครื่องดื่มมึนเมา

แต่แม้ยุคสมัยของการห้ามขายเครื่องดื่มมึนเมาในสหรัฐอเมริกาจะจบลงไปแล้ว การใช้ปลอมแปลงรอยเท้าด้วยรองเท้าในรูปแบบนี้ก็ใช่ว่าจะหายไปเลยเสียทีเดียว

 

เชื่อกันว่าแนวคิดของรองเท้าแบบนี้น่าจะได้มาจากนวนิยายเรื่องเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ของโคนัน ดอยล์

 

เพราะในช่วงสงครามโลกเองเหล่าผู้แทรกซึมเข้าไปในเยอรมนีก็มีการใช้รองเท้าที่จะทำรอยเท้ากลับด้าน เพื่อหลอกทหารนาซีให้ตามรอยเท้าไปผิดทางอยู่เช่นกัน

และไม่แน่เหมือนกันว่าแม้แต่ในปัจจุบัน การปลอมรอยเท้าแบบนี้ก็อาจจะยังมีการใช้งานกันอยู่ที่มุมใดมุมหนึ่งของโลกด้วยก็เป็นได้

 

ที่มา rarehistoricalphotos

Comments

Leave a Reply