ที่มาของ “สต็อกโฮล์มซินโดรม” อาการทางจิตสุดแปลกที่ “ตัวประกัน” หลงรัก “คนร้าย”

เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะเคยรู้จักกับอาการทางจิตที่มีชื่อว่า “สต็อกโฮล์มซินโดรม” (Stockholm syndrome)  มันเป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นในบางครั้งกับคนที่ถูกคนร้ายจับเป็นตัวประกัน โดยเฉพาะในกรณีที่คนร้ายปฏิบัติตัวค่อนข้างดีกับเหยื่อ

 

 

ลักษณะของสต็อกโฮล์มซินโดรมสามารถอธิบายง่ายๆ ว่าคือการ “หลงรัก” ในตัวคนร้าย จนในบางครั้งเหยื่อก็รู้สึกว่าสิ่งที่คนร้ายทำไม่ใช่เรื่องผิดอะไร หรือแม้กระทั่งเข้าข้างคนร้ายในบางกรณีเลยด้วย

ชื่อของอาการสต็อกโฮล์มซินโดรม กลายเป็นที่รู้จักครั้งแรกจากคดีปล้นธนาคารโดยนาย Jan-Erik Olsson ในวันที่ 23 สิงหาคม 1973 ที่กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน

เขาจับเจ้าหน้าที่ของธนาคาร 4 คนเป็นตัวประกัน และเจรจาต่อรองขอเงินกว่า 2 ล้านบาท รถยนต์สำหรับหนี และการปล่อยตัวนักโทษคนหนึ่ง

 

Jan-Erik Olsson (คนกลาง) ในตอนที่ถูกตำรวจที่ใส่หน้ากากกันแก๊สควบคุมตัว

 

การเจรจาเหมือนว่าจะเป็นไปได้ดีสำหรับ Olsson ในตอนแรก อย่างไรก็ตามทางตำรวจปฏิเสธที่จะให้เขาพาตัวประกันออกไปด้วย ดังนั้นการปล้นธนาคารในครั้งนี้จึงกลายเป็นเรื่องยืดเยื้อยาวนานถึงห้าวัน และถูกเสนอข่าวไปทั่วประเทศ

 

หน่วยซุ่มยิงที่อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนี้

 

น่าแปลกที่ Olsson ดูแลตัวประกันของเขาเป็นอย่างดี เขาเอาเสื้อคลุมให้ตัวประกันหญิงเมื่อเห็นว่าเธอตัวสั่น ปลอบโยนตัวประกันตอนที่ฝันร้าย บอกตัวประกันให้อย่ายอมแพ้ตอนที่ติดต่อที่บ้านไม่ได้ มอบกระสุนปืนให้ตัวประกันเป็นเครื่องราง หรือแม้กระทั่งให้ตัวประกันออกไปเดินคลายเครียด (โดยผูกเชือกไว้) ในตอนที่มีอาการโรคกลัวที่แคบ

 

 

นั่นทำให้ในตอนที่ตำรวจตัดสินใจบุกเข้าจับกุมนาย Olsson ตัวประกันทั้งหมดกลับปกป้องคนร้ายอย่างจริงจัง จนถึงขั้นที่ว่าตัวประกันบางคนคิดจะขึ้นศาลสู้คดีให้เขาเลยด้วย

จิตแพทย์อธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีความคล้ายคลึงกับอาการ “Shell shock” ที่มักเกิดขึ้นกับทหารในสงคราม แต่ในกรณีนี้สถานการณ์ที่บีบคั้นกลับทำให้ตัวประกันเกิดหลงรักคนร้าย แทนที่จะเป็นการสติหลุดแบบในสงคราม จนกลายเป็นที่มาของคำว่าสต็อกโฮล์มซินโดรมไปนั่นเอง

 

ที่มา historybbc

Comments

Leave a Reply