เปิดตำนานช่างตีดาบ “มาซามุเนะ” ชายผู้ว่ากันว่าเป็นช่างตีดาบที่เก่งที่สุดในญี่ปุ่นสมัยก่อน

หากพูดถึงดาบในตำนานของญี่ปุ่นเชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะนึกถึงดาบของมุรามาสะเป็นอย่างแรก แต่ถ้าหากเราพูดถึงดาบในตำนาน “ที่ยังหลงเหลืออยู่จริงๆ” ดาบที่ว่าเหล่านั้นก็คงไม่พ้นผลงานของช่างตีดาบนามมาซามุเนะแน่ๆ

ช่างตีดาบมาซามุเนะ (正宗) มีอีกชื่อหนึ่งว่า โกโระ นิวโด มาซามุเนะ (五郎入道正宗) เขาคือช่างตีดาบที่ชีวิตอยู่ในยุคคามาคุระ (ค.ศ. 1185-1333) และมีชื่อเสียงในฐานะนักตีดาบที่ยอดเยี่ยมในสมัยนั้น

 

 

ว่ากันว่าเขาเป็นช่างตีดาบคนแรกๆ ที่ใช้การตีดาบแบบผสมเหล็กหลายชนิดเข้าด้วยกัน โดยใช้เหล็ก “กาวากาเนะ” ที่มีคาร์บอนสูงเป็นใบดาบ ใช้เหล็ก “ฮากานะ” ที่ผ่านการตีซ้อนกันหลายครั้งเป็นคมดาบ และใช้เหล็กคาร์บอนต่ำที่มีความยืดหยุ่นสูงชื่อ “ชิกาเนะ” เป็นไส้ในทำให้ได้มาซึ่งดาบที่คมกริบแต่ไม่เปราะบางมากนักออกมา

 

 

วิธีการตีดาบของมาซามุเนะแพร่กระจายออกไปในหมู่ช่างตีดาบหลังจากนั้น แต่ก็แทบไม่มีใครเลยที่จะเก่งกาจไปกว่าตัวมาซามุเนะเอง ช่างตีดาบเพียงคนเดียวที่ว่ากันว่าเก่งพอๆ กับมาซามุเนะก็คือมุรามาสะผู้สร้างผลงานดาบคำสาปกระหายเลือดอันเลื่องชื่อ

ตามตำนานของญี่ปุ่นบอกว่าทั้งสองคนเคยประลองดาบกันแล้วที่แม่น้ำ แต่แม้จะบอกว่าเป็นการประลองแต่มันเป็นเพียงการเปรียบเทียบกันว่าดาบของใครดีกว่าเท่านั้น ไม่ใช่การดวลดาบกันจริงๆ แต่อย่างใด

 

 

ผลของการประลองคือเพียงแค่นำปลายดาบจุ่มลงไปในน้ำ ดาบของมุรามาสะก็ สามารถตัดใบไม้ กิ่งไม้ และปลาได้ ในขณะที่ดาบของมาซามุเนะตัดได้ทุกอย่างยกเว้นปลา (บางตำราก็บอกว่าปลาว่าย “ทะลุ” ดาบไปเลย)

นี่เหมือนกับเป็นชัยชนะของมุรามาสะ แต่นักบวชที่ผ่านมาเห็นกลับบอกว่าที่ผลการประลองเป็นเช่นนั้นเพราะว่าดาบของมุรามาสะตีขึ้นจากความกระหายเลือดมันจึงทำลายได้ทุกอย่าง ในขณะที่ดาบของมาซามุเนะตีขึ้นจากความสงบนิ่งมันจึงปล่อยให้ปลารอดชีวิต

ตำนานที่ว่านี้ทำให้เห็นความพิเศษของดาบที่มาซามุเนะตีได้เป็นอย่างดี แถมดาบหลายๆ เล่มของมาซามุเนะยังมีหลักฐานคงอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งต่างจากดาบของมุรามาสะที่หลายๆ เล่มไม่มีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน

 

หนึ่งในผลงานของมาซามุเนะที่มีการจัดแสดงอยู่ในออสเตรีย

 

นั่นหมายความว่าดาบของมาซามุเนะสามารถผ่านกาลเวลามานานกว่า 700 ปีได้ แถมยังคงความคมมากที่จะนำออกมาใช้งานได้จริงๆ อีกด้วย เรียกได้ว่าสมเป็นผลงานของช่างตีดาบในตำนานเลยก็ไม่ผิดนัก

 

ที่มา allthatsinterestingancient-originsgeni

Comments

Leave a Reply