เมื่อราวๆ 300 กว่าปีก่อน โลกได้พบกับจดหมายฉบับหนึ่งที่เขียนโดยแม่ชีผู้อาศัยในซิซิลี หนึ่งในห้าแคว้นปกครองตนเองของประเทศอิตาลี หญิงสาวผู้อ้างว่าตนถูกสิงสู่โดยซาตาน และกลายเป็นที่กล่าวขวัญถึงกันมาอย่างยาวนาน
มันเป็นจดหมายที่ถูกเขียนขึ้นในวันที่ 11 สิงหาคม ปี ค.ศ. 1676 โดยแม่ชีวัย 31 ปีนาม Maria Crocifissa della Concezione โดยจากข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ในสมัยนั้น Maria ถูกพบในห้องของเธอในสภาพใบหน้าเปื้อนไปด้วยน้ำหมึก และมือข้างหนึ่งถือจดหมายที่เขียนด้วยตัวอักษรประหลาดเอาไว้
จดหมายที่อ้างว่าเป็นของแม่ชี Maria เปิดเผยโดยผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ Ludum
นี่คือจดหมาย 14 บรรทัด ที่เขียนด้วยตัวอักษรประหลาดและไม่น่าจะอ่านได้ที่แม่ชี Maria ถือไว้ มันได้สร้างความปวดหัวให้กับผู้ที่พยายามถอดรหัสมาเป็นเวลานาน
จนกระทั่งเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ Ludum ในซิซิลี ก็สามารถ “ถอดรหัส” จดหมายฉบับนี้ได้สำเร็จ ด้วยความช่วยเหลือจากโปรแกรมถอดรหัสนั่นเอง
ภาพของแม่ชี Maria Crocifissa della Concezione
แม้ว่าข้อความส่วนใหญ่ในจดหมายนี้จะไม่สามารถปะติดปะต่อออกมาได้ แต่อย่างน้อยๆ ในจดหมายก็มีการกล่าวถึง พระตรีเอกภาพว่าเป็น “ภาระไร้ค่า” และ “พระเจ้าคิดว่ามันสามารถปลดปล่อยมนุษย์ได้… ระบบมันไม่ทำงานให้ใครหรอก… บางทีตอนนี้ Styx คงเป็นสิ่งที่แน่นอน”
Styx ในที่นี้เป็นไปได้ว่าเป็นการกล่าวถึง “แม่น้ำสติกซ์” ซึ่งเป็นแนวแบ่งเขตระหว่างโลกคนเป็นกับโลกหลังความตายในความเชื่อของชาวกรีกและโรมัน
ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ Ludum คุณ Daniele Abate บอกว่า มีความเป็นไปได้ว่าแม่ชี Maria จะมีอาการของโรค “หลายบุคลิก” และเขียนจดหมายฉบับดังกล่าวขึ้นมาด้วยภาษากรีก ละติน รูนิ และอาหรับ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเธอจะเคยเห็นมาก่อนในชีวิต
ดูเหมือนว่าในสมัยก่อนจะมีการบันทึกไว้ด้วยว่าแม่ชีคนดังกล่าวถูก “พลังด้านมืด” บังคับให้ลงชื่อในจดหมาย โชคดีที่เธอไหวตัวทันและเขียนว่า “Ohimé” ที่แปลว่า “โอ้ ฉันเอง” ลงไปแทน
Palma di Montechiaro สถานที่ที่จดหมายถูกเขียนขึ้น
อย่างไรก็ตามการค้นพบที่เกิดขึ้นไม่ได้มีการตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด อีกทั้งที่มาของโปรแกรมถอดรหัสที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ Ludum ใช้ก็มีที่มามาจาก “เว็บมืด” อีกด้วย ทำให้ไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าการถอดรหัสที่เกิดขึ้นนั้นมีความน่าเชื่อถือ
จดหมายอีกฉบับที่อ้างว่าเป็นของแม่ชี Maria มีเนื้อความที่เหมือนกันกับอันด้านบน
ที่มา ancient-origins, livescience, mirror
Advertisement