การค้นพบใหม่ชี้ มนุษย์โบราณ “Homo erectus” อาจสูญพันธุ์เพราะความขี้เกียจ

คนในสมัยก่อนเคยกล่าวไว้ว่า “ขี้อะไรก็มีประโยชน์ยกเว้นขี้เกียจ” เป็นคำสอนที่เกิดขึ้นมาเพื่อไม่ให้เหล่าลูกหลานทำตัวขี้เกียจสันหลังยาว เพราะความขี้เกียจไม่ได้มีอะไรดีเลย หนำซ้ำจากผลงานวิจัยชิ้นล่าสุด ที่มนุษย์ในสมัยก่อนสูญพันธุ์ไป ก็อาจจะเพราะความขี้เกียจอีกด้วย

นี่เป็นเรื่องของ Homo erectus เผ่าพันธุ์ที่ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในบรรพบุรุษของมนุษย์ ปรากฏตัวออกมาครั้งแรกเมื่อประมาณ 2 ล้านปีก่อน และสูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 50,000-100,000 ปีก่อน

 

 

โดยจากการวิจัยของนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียได้มีการพบว่า Homo erectus ค่อนข้างที่จะมีความขี้เกียจมาก เมื่อเทียบกับบรรพบุรุษอื่นๆ ของมนุษย์อย่าง Neanderthals

นี่เป็นผลการวิจัยที่ได้มาจากการวิเคราะห์วัตถุโบราณที่มีการค้นพบจากการขุดค้นในซาอุดีอาระเบียเมื่อปี 2014 ที่ผ่านมา และพบว่า Homo erectus นั้นเป็นสายพันธุ์ที่จะสร้างเครื่องมือหรือหาอาหารเลี้ยงชีพ “เพียงเพื่อมีชีวิตรอด” เท่านั้น

 

 

พวกเขาจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่หาหินและน้ำได้ง่ายๆ และจะใช้เพียงแค่ของที่หาได้ง่ายๆ ในการทำเครื่องมือ ทำให้เครื่องมือในยุคนั้น มีคุณภาพต่ำเมื่อเทียบกับเครื่องมือยุคหินอื่นๆ

นอกจากนี้แห่งหินคุณภาพสูงที่อยู่ในบริเวณยังไม่มีร่องรอยการถูกนำไปใช้เลย ทั้งๆ ที่หากเป็น Neanderthals หรือสายพันธุ์ Homo sapiens รุ่นแรกๆ พวกเขาจะปีนขึ้นเขาเพื่อหินชั้นดี อีกทั้งยังมีการขนส่งหินในระยะทางไกลๆ อีกด้วย

 

 

นั่นทำให้เมื่อแหล่งน้ำในที่อยู่อาศัยแห้งหายไป กลุ่ม Homo erectus จำนวนมากก็ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก

นอกจากนี้ Ceri Shipton นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียยังบอกอีกว่า

“Homo erectus นั้นไม่เพียงแค่ขี้เกียจ แต่ยังหัวโบราณอีกด้วย พวกเขาไม่มีการปรับเปลี่ยนเครื่องมือของตัวเองเลยแม้ว่าสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนก็ตาม จึงเป็นไปได้ว่าในท้ายที่สุดสภาพแวดล้อมก็แห้งจนเกินกว่าที่พวกเขาจะอยู่ได้นั่นเอง”

 

 

ที่มา livescienceplos และ livescience

Comments

Leave a Reply