ดาบจีน “โกวเจี้ยน” ดาบเหนือกาลเวลา คงความคมไร้สนิมแม้อยู่มากว่า 2,000 ปีแล้วก็ตาม

เมื่อพูดถึงดาบในตำนานจากอดีต คนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงดาบที่ไม่อาจบอกได้ว่ามีอยู่จริงไหมอย่าง เอกซ์แคลิเบอร์ และ ดาบมารมุรามาสะ หรือดาบที่แม้ว่าจะมีตัวตนให้เห็นจริงๆ แต่ก็ไม่สามารถใช้งานได้อีกแล้วอย่างดาบ 7 ปลาย และดูเรนดอล

แต่ในบรรดาดาบจากอดีตเหล่านั้น ยังคงมีดาบอยู่เล่มหนึ่งที่ยังใช้การได้เป็นอย่างดี แม้จะมีอายุมากกว่า 2,000 ปีแล้วก็ตาม

ชื่อของมันคือ “โกวเจี้ยน” ดาบที่อยู่เหนือกาลเวลา

 

 

การค้นพบ

ในปี 1965 นักโบราณคดีได้สำรวจพบสุสานโบราณกว่า 50 แห่งในมณฑลหูเป่ย์ รวมทั้งวัตถุโบราณกว่า 2,000 ชิ้น ซึ่งมีโกวเจี้ยนเป็นหนึ่งในนั้น

โกวเจี้ยนถูกค้นพบในกล่องไม้ข้างๆ โครงกระดูกร่างหนึ่งในสุสาน เมื่อเปิดกล่องนั้นออกทางทีมสำรวจก็ต้องตกตะลึงกับสิ่งที่พวกเขาเห็น เพราะดาบที่พวกเขาพบนั้นอยู่ในสภาพดีอย่างไม่น่าเชื่อ มันไม่มีสนิมเกาะเลยแม้แต่น้อย แถมยังคมมากพอที่จะบาดมือหนึ่งในทีมสำรวจอีกด้วย

 

 

ตัวดาบ

ดาบโกวเจี้ยน เป็นดาบประเภทที่เรียกกันว่า “เจี้ยน” ซึ่งมีลักษณะเป็นดาบสองคมที่มีการใช้แพร่หลายในประเทศจีนเมื่อ 2,500 ปีก่อน นอกจากนี้ดาบประเภทเจี้ยน ยังปรากฏออกมาบ่อยๆ ในเทพนิยายจีน และเป็นดาบรุ่นแรกๆ ที่มีการใช้งานในประเทศจีนอีกด้วย

 

 

ดาบโกวเจี้ยน ทำมาจากสัมฤทธิ์ซึ่งมีส่วนประกอบของทองแดงสูง ส่วนคมดาบบางและคม อีกทั้งยังมีสัดส่วนกำมะถันมากซึ่งทำให้ตัวดาบมีคุณสมบัติไม่ขึ้นสนิม โดยดาบเล่มนี้มีความยาว 55.7 เซนติเมตร ใบดาบกว้าง 4.6 เซนติเมตร และหนัก 875 กรัม

 

ถอดรหัสจารึก

ตัวอักษรที่จารึกอยู่บนดาบเล่มนี้ สร้างความลำบากใจให้กับนักโบราณคดีเป็นอย่างมาก เนื่องจากมันเป็นรูปแบบอักษรโบราณที่อ่านได้ยาก อย่างไรก็ตามผลการถอดรหัสสามารถบอกได้ว่าตัวอักษร 6 ตัวจากทั้งหมดแปดตัวนั้นคือ “越王自作用剑” หรือ “ดาบส่วนตัวของราชันแห่งเยว่”

 

 

ส่วนตัวอักษรที่เหลืออยู่อีกสองตัวนั้นเชื่อว่าเป็นพระนามของกษัตริย์ผู้เป็นเจ้าของดาบเล่มนี้

นั่นทำให้เชื่อกันว่าดาบเล่มนี้น่าจะเป็นของ “โกวเจี้ยน” กษัตริย์ผู้ปกครองอาณาจักรเยว่ในช่วง 496-465 ปีก่อนคริสตกาล และกลายเป็นที่มาของชื่อดาบนั่นเอง

 

 

 

ดาบได้รับความเสียหาย

ในปี 1994 ดาบโกวเจี้ยนเคยถูกยืมไปจัดแสดงที่สิงคโปร์ แต่เมื่องานจัดแสดงจบลง ทีมงานกลับพลาดทำให้ตัวดาบมีรอยแตกยาว 7 มิลลิเมตร สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากแก่ชาวจีนในตอนนั้น และนั่นทำให้ดาบเล่มนี้ไม่เคยถูกนำไปแสดงนอกประเทศอีกเลย

อย่างไรก็ตามหากใครสนใจอยากไปชมดาบเล่มนี้ด้วยตาตัวเอง ต้องตามไปชมที่พิพิธภัณฑ์มณฑลหูเป่ย์นะฮะ

 

 

ที่มา ancient-originszmesciencehistoriarex

Comments

Leave a Reply