2 นักดำน้ำอังกฤษ เผยวิธีการช่วยชีวิตเด็ก ต้องซักซ้อมประกบ-ทางการประเมินภัยต่ำ

หลังจากที่เด็กๆ ทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีและโค้ชสามารถออกมาจากถ้ำหลวงได้แล้ว เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องในงานกู้ภัยสุดท้าทายในครั้งนี้ ต่างได้แยกย้ายกลับสู่ภูมิลำเนาตามวิถีชีวิตปกติอีกครั้ง

แน่นอนว่าสื่อต่างๆ ยังคงให้ความสนใจเกี่ยวกับภารกิจนี้ เนื่องจากการรายงานข่าววิธีการช่วยเหลือนั้นยังไม่สามารถทำได้ในระหว่างปฏิบัติภารกิจ พอทุกอย่างเสร็จสิ้น จึงมีการสัมภาษณ์ถึงรายละเอียดการช่วยเหลือต่างๆ ที่ยังไม่มีการเปิดเผย

 

Jason Mallinson

 

เว็บไซต์ Dailymail ได้ทำการสัมภาษณ์ 2 นักดำน้ำในถ้ำชาวอังกฤษ Jason Mallinson และ Chris Jewell โดยที่ทั้งคู่เปิดเผยว่า ก่อนจะเดินทางมาถึงประเทศไทย พวกเขาได้ทราบข่าวคราวและข้อมูลขั้นต้นของภารกิจดังกล่าว มีการวางแผนซักซ้อมและคาดการณ์ถึงภัยอันตรายเป็นอันดับแรกเสมอ

 

Chris Jewell

 

ท่ามกลางการร่วมงานกันระหว่างหน่วยซีลไทย ทีมผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกและอาสาสมัครนับพันชีวิต ต่อให้วางแผนอย่างพิถีพิถันแค่ไหนก็เกือบกลายมาเป็นความหายนะได้แทบไม่รู้ตัว “เรามุ่งมั่นที่จะนำตัวทุกคนออกมาให้ได้ แต่มีโอกาสสูงมากที่บางคนอาจไม่รอดกลับมา”

หลังจากที่พบว่าทั้ง 13 คน ยังมีชีวิตอยู่ ทั้ง Mallinson กับ Jewell ได้รับเชิญจาก British Cave Rescue Council ให้ไปสมทบภารกิจการช่วยเหลือในประเทศไทยร่วมกับ Rick Stanton และ John Volanthen

 

 

จากการประเมินแผนในขั้นแรกที่นำถังออกซิเจนไปวางตามจุดต่างๆ ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้แน่ๆ ประกอบกับการปล่อยให้เด็กๆ รอคอยอยู่ในถ้ำนานเกินไป ระดับออกซิเจนจะลดลงต่ำและปริมาณน้ำในถ้ำจะสูงขึ้น เพราะฉะนั้นทางออกทางเดียวก็คือต้องนำตัวเด็กออกมาด้วยวิธีดำน้ำ

 

 

ความสูญเสียของจ่าแซม สมาน กุนัน ยิ่งทำให้ทางการไทยรับรู้ว่าต้องทำอะไรสักอย่าง หลังจากที่คิดจะปล่อยให้เด็กรออยู่ในถ้ำ และจากการที่หน่วยซีลไทยไปถึงตัวเด็กในโถงสุดท้ายได้นั้น Mallinson ระบุว่าอาจจะเป็นพึ่งดวง และทางการประเมินความเสี่ยงอันตรายต่ำเกินไป

 

 

ภายหลังจากที่นำตัวเด็กคนแรกออกมาได้ พวกเขาตัดสินใจซักซ้อมแผนการทั้งหมดอีกครั้ง เนื่องจากทีมหมูป่าไม่เคยดำน้ำและใช้หน้ากากแบบเต็มหน้ามาก่อน

“ผมนำตัวเด็กคนแรกออกมาได้ แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะสำเร็จหรือไม่ จึงทำการทดสอบกับเด็กในสระว่ายน้ำในพื้นที่ใกล้เคียงก่อน”

เมื่อมั่นใจในระดับหนึ่ง เขาจึงจัดเตรียมความพร้อมชุดยางและหน้ากากดำน้ำกันรอบใบหน้าให้กับเด็ก พร้อมกับการสอนให้นอนคว่ำหน้าระหว่างดำน้ำ และคอยตามประกบภายใต้การนำทางของนักดำน้ำที่มีเชือกคล้องระหว่างตัว และจะต้องจับเชือกนำทางอยู่ตลอดเวลา เป็นการดำน้ำประกบแบบ 1 ต่อ 1

 

 

ส่วนของ Jewell ได้พูดถึงช่วงหนึ่งของการนำตัวเด็กออกมา ระหว่างนำตัวเด็กคนรองสุดท้ายออกมาจากโถง 4 ไปยังโถง 3 มือของเขาหลุดออกจากเชือกนำทาง และต้องควานหาเชือกอยู่ใต้น้ำเป็นเวลาหลายนาที เนื่องจากมองไม่เห็นอะไรเลยในใต้น้ำขุ่น และคว้าสายไฟที่เชื่อมระหว่างโถงเพื่อใช้นำทางแทน

 

 

ความลำบากในการนำตัวเด็กออกมานั้น นอกจากจะต้องดำน้ำออกมาด้วยระยะทางที่ไกลกว่า 1 กิโลเมตร พวกเขาตัดสินใจไม่ใส่ถุงมือยางเนื่องจากจะต้องการพื้นที่สัมผัสที่ชัดเจน เพื่อป้องกันเด็กไม่ให้กระแทกกับหิน จนนักดำน้ำได้รับบาดเจ็บที่มือและข้อนิ้ว

 

 

นอกจากจะต้องกันเด็กออกจากหินแล้ว หากถังอากาศได้รับความเสียหายจากการกระแทกอาจจะส่งผลทำให้เสียชีวิตได้ ทุกอย่างจึงเป็นการแข่งกับเวลาและความกดดันอย่างหนัก

ซึ่งในแต่ละรอบจะใช้เวลาประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง จนกระทั่งส่งตัวเด็กให้ทางเจ้าหน้าที่ไทยและอเมริกันรับช่วงต่อ จนนำตัวออกไปได้สำเร็จทีละคน

 

 

นอกจากนี้เขายังระบุด้วยว่า การปฏิบัติทางด้านความปลอดภัยของไทยนั้นทำงานบนความเสี่ยง ผิดหลักความปลอดภัยของการดำน้ำในถ้ำ

“ภายใต้สภาพแวดล้อมการดำน้ำในถ้ำ อุบัติเหตุมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูง แต่วิธีการที่พวกเขาทำผิดทั้งหมด และใช้อุปกรณ์ไม่ถูกต้อง”

เพราะเนื่องจากจะต้องมีการประเมินล่วงหน้าอยู่เสมอ นั่นหมายถึงต้องมีอุปกรณ์สำรองติดตัวไปด้วย ในแต่ละรอบจะต้องมีถังอากาศอย่างน้อย 2 ถัง เรกูเรเตอร์ 2 ตัว ไฟฉาย 3 ชุด แต่นักดำน้ำหน่วยซีลใช้แค่ถังเดียว ถ้าอากาศหมดหรือเรกูเรเตอร์เสียก็จะเกิดอันตรายที่ไม่คาดคิด

 

 

และแผนการดังกล่าวก็ทำให้ Mallinson กับ Jewell รู้สึกช็อกมากๆ เนื่องจากหน่วยซีลต้องรอประกบเด็กอยู่ข้างในโถงสุดท้าย เพราะไม่มีอากาศที่เพียงพอจะดำน้ำกลับมาได้เอง

“พวกเขาได้รับคำสั่งให้ทำตามและอยู่กับเด็กแบบนั้น โดยไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม แต่การปล่อยไว้แบบนั้นก็เป็นการใช้อากาศภายในโถงที่มากเกินไปเช่นกัน”

 

 

ด้วยเหตุนี้นักดำน้ำชาวอังกฤษทั้ง 4 จึงต้องแข่งกับเวลาเข้าไปรับตัวเด็กแบบคนต่อคนจากจำนวนที่เหลือ และจะต้องหอบถังอากาศพร้อมไฟฉายไปให้กับหน่วยซีลที่เหลือด้วย

ซึ่งในการช่วยเด็กคนสุดท้าย Mallinson กล่าวว่าเขามองไม่เห็นมือตัวเองเลย จนต้องนำใบหน้าเด็กมาให้ใกล้ตัวมากที่สุดเพื่อไม่ให้กระแทกก้อนหิน หากเกิดอันตรายกับหน้ากากของเด็กก็จะจมน้ำได้ทุกเมื่อ

จนกระทั่งช่วงสุดท้ายของการดำน้ำ ความรู้สึกสุขุมที่เก็บมาตลอดแปรเปลี่ยนเป็นความตื้นตัน ที่สามารถพิชิตภารกิจเหนือความคาดหมายได้สำเร็จ

 

ที่มา: dailymail

Comments

Leave a Reply