CyberBully หรือเพียงแค่ Criticism เราเห็นอะไรบ้าง จากกรณีชาวเน็ตดราม่า ‘ไข่มุก BNK48’

ในโลกยุคสมัยใหม่ที่มาพร้อมกับอินเทอร์เน็ต ทุกคนต่างมีพื้นที่เป็นของตัวเองและพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน เปรียบได้เหมือนกับโลกอีกใบที่ทุกคนมีตัวตน เพียงแต่ว่าจะเป็นตัวจริงหรือเพียงแค่ร่างอวตารเท่านั้น…

เมื่ออยู่ในโลกออนไลน์ ทุกคนต่างมีอิสระ สิทธิเสรีภาพ ในการแสดงออกทางความคิดในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การแชร์ หรือแม้แต่กระทั่งการเขียน การกล่าวถึง และวิจารณ์ในประเด็นต่างๆ

 

 

จากกรณีล่าสุดที่ชาวเน็ตจุดประเด็นเกี่ยวกับการตอบคำถามของน้อง ‘ไข่มุก BNK48’ ในรายการดาวินชี่ ด้วยคำตอบสั้นๆ เพียงแค่ 3 พยางค์ อ๊บใสไม้ และ ป้ายเป่าหลง

จนเกิดเป็นข้อสงสัยถึงตัวตนจริงๆ ของน้อง พร้อมทั้งตั้งคำถามในระดับสติปัญญา ลามไปจนถึงการด่าทอด้วยถ้อยคำรุนแรง บานปลายไปทั่วอาณาจักรโซเชียลไทย

 

 

ทั้งนี้ ฝ่ายที่ออกมาว่ากล่าวนั้น ต่างบอกว่าเป็นการวิจารณ์ ติเพื่อก่อ บุคคลสาธารณะควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น แต่ทว่าในบางความคิดเห็นวิจารณ์ด้วยคำด่า คำที่รุนแรงต่อผู้อ่านท่านอื่นๆ ที่ไม่ได้เห็นด้วยไปเสียหมด และนำมาสู่คำถามอีกครั้งว่าเป็นการ ‘วิจารณ์’ หรือเป็นการ ‘บูลลี่’ กันแน่

 

 

ก่อนอื่นนั้น เรามาทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า หลายคนมักจะสับสนในความแตกต่างระหว่าง เสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็น และ การบูลลี่ (การกลั่นแกล้ง) และเสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็นอาจจะถูกตีความหมายแตกต่างกันออกไปตามแต่ละสถาบันทั่วโลก

แต่สิ่งสำคัญก็คือ คุณสามารถพูดหรือเขียนแสดงออกต่อทุกสิ่งได้ ตราบใดที่ยังไม่เป็นการมุ่งร้ายต่อบุคคลหรือสิ่งนั้น ไม่ส่อไปทางเสื่อมเสีย หรือความปลอดภัยในชีวิต

 

 

คำนิยามของคำว่า ‘วิจารณ์’ นั้นสามารถอธิบายได้คร่าวๆ ว่า ทุกคนต่างคิดว่าความคิดของตนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หากมีผู้คนคล้อยตามมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด และในบางครั้งการวิจารณ์ที่ดีกลับไม่ได้รับความสนใจเช่นเดียวกัน หากไม่ทำให้คนส่วนใหญ่คล้อยตามได้

ถ้าหากมีใครโต้แย้งขึ้นมา คนส่วนใหญ่มักจะยกทุกเหตุผลทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวเพื่อ ‘เอาชนะ’ ให้ได้ เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์นั้น ไม่มีใครอยากโดนตั้งคำถามและต้องการให้คนอื่นยอมรับในสิ่งที่ตนเองคิด

 

 

เนื่องจากการวิจารณ์จะต้องตรงไปตรงมาและรุนแรง ตีความหมายเป็นการวิจารณ์ในแง่ลบ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุง…

แต่บางครั้งการวิจารณ์กลับเลยเถิดเกินขอบเขตของมัน เพราะการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์จะต้องอยู่ในบรรทัดฐานความเป็นมิตร แม้จะมีคำรุนแรงแต่ไม่ใช่นำความเกลียดชังมาวิจารณ์

 

 

ยกตัวประโยคอย่างเช่น ‘แม่งไร้สาระ มึงมันโง่ ไปตายซะ ยังมีชีวิตอยู่อีกเหรอ โคตรน่ารำคาญ ไม่รู้จักโต พวกทำเสียเวลา แย่ยิ่งกว่าที่คิด เป็นความผิดพลาดที่ไม่น่าเกิด’ ฯลฯ

ประโยคและคำเหล่านี้ ไม่ใช่การวิจารณ์ แต่เป็น ‘บูลลี่’ หรือ ‘ไซเบอร์บูลลี่’ ในโลกออนไลน์ คือการด่าทอ กลั่นแกล้ง และบั่นทอนอีกฝ่าย เต็มไปด้วยอคติความเกลียดชังที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในการปรับปรุงต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

 

 

หากแสดงความคิดเห็นเชิงวิจารณ์ด้วยถ้อยคำเหล่านี้ เส้นกั้นบางๆ ระหว่างคำวิจารณ์นั้นถูกตัดขาดล้ำเข้าไปสู่การด่าทอ เป็นการวิจารณ์โดยไร้ตรรกะและเหตุผล

โดยธรรมชาติของมนุษย์ ความไม่ชอบก็คือไม่ชอบ แค่เลือกที่จะไม่สนใจ เลื่อนผ่านมันไปทุกอย่างก็จะจบ แต่ถ้าหากมีความรู้สึกอยากแนะนำในทางที่สร้างสรรค์จริงๆ ที่จะสามารถช่วยผู้อื่นได้ ก็ควรที่จะใช้ถ้อยคำแสดงเพียงแค่ความคิดเห็นเท่านั้น ไม่ใช่คำที่มีความหมายในแง่ลบ

 

‘การมีความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ได้ทำให้คุณดูงี่เง่า แต่การเป็นคนงี่เง่าก็คือคนงี่เง่า’

 

สำหรับคำด่าที่คิดว่าเป็นคำวิจารณ์ หากได้รับกระแสโต้กลับส่วนใหญ่จะเปิดการ์ด ‘แซวขำๆ’ หรือ ‘แค่ล้อเล่น’ หากอีกฝ่ายไม่รู้สึกเช่นนั้นด้วย เรื่องความขำขันของผู้แสดงความคิดเห็นนั้น ก็ไม่ต่างอะไรไปจากการบั่นทอนผู้อื่นด้วยคำด่า

 

มีฉากหนึ่งจาก Game of Thrones ที่ Tyrion Lannister เคยกล่าวกับ Jon Snow ไว้ว่า…

 

‘จงอย่าลืมว่าตัวตนของเจ้าเป็นใคร แน่นอนว่าทั้งโลกไม่เคยจดจำ นำมันมาใช้เป็นจุดแข็ง และมันจะไม่เป็นจุดอ่อนของตัวเจ้า จงสวมเกราะให้กับตัวเอง และมันจะไม่ย้อนกลับมาทำร้ายเราได้’

 

 

ที่มา: idontblog, familypatternsmatter, nytimes, stopthegrbullies, artparasites
เรียบเรียงโดย #เหมียวเลเซอร์

Comments

Leave a Reply