“ความเหงา” อาจไม่ได้ฆ่าเรา แต่ผลลัพธ์มันเลวร้าย ไม่ต่างกับดูดบุหรี่วันละ 15 มวน

เราอาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ความเหงาไม่เคยฆ่าใคร” แต่ว่ามันก็อาจเป็นสิ่งที่ทำร้ายสุขภาพกายและใจของเราได้เป็นอย่างมาก ยิ่งสำหรับเด็กรุ่นใหม่ในปัจจุบันด้วยแล้ว

คำพูดที่ว่ามานั้นได้รับการอธิบายโดยมหาวิทยาลัย California Los Angeles (UCLA) เมื่อพวกเขาจัดทำเกณฑ์การประเมินระดับความเหงาของคน โดยผลสำรวจบอกว่าเด็ก Gen Z (อายุ 18-22 ปีในยุคนี้) ต้องเผชิญกับความเหงามากยิ่งกว่าคนสูงอายุซะอีก

 

 

การสำรวจโดยบริษัทประกันชีวิต Cigna ชี้ให้เห็นว่า วัยรุ่นในช่วง Gen Z มีคะแนนระดับความเหงาอยู่ที่ 42 คะแนน ในขณะที่ผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 72 ปี) มีเพียง 39 คะแนนเท่านั้น

David Cordani ประธานบริษัท Cigna บอกว่าสาเหตุของความเหงาในวัยรุ่นนั้น เกิดจากการที่พวกเขามักจะเล่นโซเชียลมีเดียมากจนเกินไป ซึ่งคนที่เล่นโซเชียลมีเดียมากๆ จะมีความรู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง เหมือนกับคนที่แทบไม่ได้เล่นโซเชียลมีเดียเลย

เขาอธิบายว่าสิ่งที่จะช่วยทำให้เรารู้สึกหลุดพ้นจากความเหงา คือการที่เราต้องสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคมอย่างมีความหมาย ไม่ใช่การที่เราแค่เลื่อนดูเฟซบุ๊กไปมาหรือเข้าไปเช็กโปรไฟล์ของคนรู้จักอย่างที่เราทำกันในปัจจุบัน

 

 

ยิ่งไปกว่านั้น การที่เรามีความเหงาและโดดเดี่ยวจะส่งผลเสียไปยังสุขภาพกายและใจของเราได้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความเครียด อาการซึมเศร้า นำไปสู่โรคเรื้อรังหลายต่อหลายอย่าง

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าหากจะเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ เลยก็คือ ความเหงานั้นเลวร้ายพอๆ กับการสูบบุหรี่วันละ 15 มวน หรือการเป็นโรคเบาหวานได้เลย (เพราะมันนำไปสู่อาการป่วยเรื้อรังรุนแรงเหมือนๆ กัน)

 

 

อย่างไรก็ตาม พวกเขาบอกว่าเพียงแค่เราออกไปเผชิญโลกแห่งความเป็นจริง ใช้เวลาอยู่กับคนในครอบครัว หากิจกรรมให้ร่างกายได้ทำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงผ่อน แค่นั้นก็สามารถหลีกหนีจากความเหงาได้แล้ว (ดูเป็นเรื่องง่าย แต่พวกเรากลับรู้สึกว่าทำจริงยากเหลือเกิน)

 

 

นับว่าเป็นอีกหนึ่งการศึกษาที่น่าสนใจ ยิ่งสำหรับคนในยุคปัจจุบันที่มักจะจมอยู่กับโลกหรือสังคมมายา (โซเชียลมีเดีย) จนลืมมองว่าแท้จริงแล้วรอบๆ ตัวเรายังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่าง และคนรอบข้างจำนวนมากที่พร้อมจะอยู่เคียงข้างเราไปเสมอ

 

ที่มา: vice , iflscience

Comments

Leave a Reply