“คนพเนจรแห่งท้องทะเล” มนุษย์ชนเผ่าแรกที่วิวัฒนาการ “ม้ามใหญ่” ดำน้ำอึดกว่าใคร

Bajau Laut บ้างก็ถูกเรียกว่า Sama-Bajau หรือด้วยฉายา “ยิปซีทะเล” และ “คนพเนจรแห่งท้องทะเล” พวกเขาคือ ชนเผ่าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใช้ชีวิตกว่า 60% แหวกว่ายอยู่ใต้พื้นน้ำทะเล พวกเขามีชีวิตแบบเร่ร่อนอาศัยอยู่บนเรือบ้านและ ใช้ชีวิตกับทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ของแนวปะการัง และป่าชายเลนของภูมิภาค

 

 

จนกระทั่งในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ประชากรบางส่วนของ Bajau ขึ้นมาอาศัยบนฝั่ง แต่ยังคงมีวิถีชีวิตการทำงานเพียงเพื่อความอยู่รอด และใช้ชีวิตอยู่กับวิถีดั้งเดิมของการตกปลา พวกเขาสามารถดำน้ำโดยที่ไม่มีเครื่องช่วยหายใจได้ลึกที่สุดถึง 79 เมตร การให้ชีวิตอยู่กับน้ำของพวกเขานั้นน่าทึ่งมากจนคนสงสัยกันว่าพวกเขาทำไปได้อย่างไรกันเลยทีเดียว

และแล้วในปี 2018 นี้เองก็ได้มีการวิจัยใหม่ตีพิมพ์ในวารสาร Cell ที่ออกมาแสดงให้เห็นว่าพวกชาว Bajau Laut นั้น มีการปรับตัวทางกายภาพ และพันธุกรรมที่ช่วยให้พวกเขาสามารถทำการดำน้ำได้ดีขึ้น ทีมนักวิจัยนานาชาติได้ศึกษา Bajau และพบว่าพวกเขามีม้ามขนาดใหญ่กว่าคนในหมู่บ้านใกล้เคียงซึ่งทำฟาร์มเป็นหลักมาก

 

 

ขนาดของม้ามมีความสำคัญเนื่องจากเป็นที่เก็บเซลล์เม็ดเลือดแดงไว้ ในระหว่างการดำน้ำ ม้ามจะส่งเซลล์เม็ดเลือดแดงที่เก็บไว้เหล่านี้เข้าไปเพิ่มในระบบไหลเวียนโลหิต เพิ่มความสามารถในการแลกเปลี่ยนออกซิเจน

การวิเคราะห์ดีเอ็นเอยังพบอีกว่าการเปลี่ยนแปลงที่พบบ่อยที่สุดในประชากรของ Bajau อยู่ในยีนที่ช่วยในการควบคุมระดับของฮอร์โมนที่เรียกว่า T4 ซึ่งผลิตโดยต่อมไทรอยด์ ฮอร์โมนนี้ทำให้อัตราการเผาผลาญเพิ่มขึ้น (ปริมาณพลังงานที่ร่างกายสามารถใช้ในช่วงเวลาหนึ่ง) ซึ่งสามารถช่วยต่อสู้กับสภาพวะระดับออกซิเจนต่ำได้

 

 

นอกจากนี้ร่างกายของพวกเขาสามารถบีบเลือดออกจากแขนขาและบริเวณที่ไม่จำเป็นของร่างกายเพื่อให้สมองสมองและปอดคงสามารถรับออกซิเจนได้แม้ไม่ได้หายใจก็ตาม

และนั่นเป็นสาเหตุให้พวกเขาดำน้ำได้นานและลึกมาก แถมการเปลี่ยนแปลงนี้ยังเกิดขึ้นแม้แต่กับสมาชิกของชุมชน Bajau ที่ไม่ดำน้ำ ซึ่งเป็นหลักฐานว่า นี่เป็นลักษณะที่สืบทอดมาตามพันธุกรรมมากกว่าการเปลี่ยนแปลงของบุคคลที่เกิดจากการดำน้ำมาตลอดชีวิต

 

ว่ากันว่านี่เป็นหนึ่งในหลักฐานที่บอกว่ามนุษย์เรานั้นยังไม่หยุดวิวัฒนาการเลยทีเดียว

 

ที่มา sciencealert

Comments

Leave a Reply