จัสติน ทรูโด นายกฯ แคนาดาออกมาขอโทษแมนๆ ว่าเคยทำผิด แม้จะเป็นเรื่องในอดีต!!

ตามปกติแล้วเมื่อผู้นำประเทศต่างๆ ทำผิดในช่วงเวลาการทำงาน เรามักจะไม่ค่อยเห็นผู้นำออกมาขอโทษหรือยอมรับแบบแมนๆ ในสิ่งที่ทำผิดกันสักเท่าไหร่นักและยิ่งเรื่องในอดีตที่ผู้นำคนก่อนๆ เคยทำนั้นไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะน้อยคนมากๆ ที่จะออกมาขอโทษแทน

แต่ ‘จัสติน ทรูโด‘ นายกรัฐมนตรีประเทศแคนาดา กลับเป็นผู้นำประเทศคนแรกๆ ที่ออกมาขอโทษบ่อยมากๆ นับตั้งแต่เขาเข้ามาดำรงตำแหน่งจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2015 เขาได้ออกมาขอโทษแล้วถึง 4 ครั้ง ด้วยกัน

 

 

ครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่งได้เพียง 6 เดือน โดยเขาได้ขอโทษต่อผู้โดยสารที่มากับเรือโกมะกะตะในปี 1914 ซึ่งเรือลำดังกล่าวนั้นได้มีผู้โดยสารชาวซิกข์ อิสลาม และฮินดูลี้ภัยมาเป็นจำนวนมากถึง 376 คน แต่ทางแคนาดาได้ปฏิเสธผู้ลี้ภัยทั้งหมดตามกฎหมายคนเข้าเมือง

จัสติน ได้เรียกความผิดพลาดในอดีตดังกล่าวว่า ‘รอยด่างในอดีตของแคนาดา‘ และนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นการออกมาขอโทษต่อเรื่องที่ผู้นำประเทศในอดีตที่เคยทำผิดของเขา ซึ่งนับจากการขอโทษครั้งนี้ก็ยังมีการขอโทษตามมาอีก 2 ครั้งในปี 2017 และล่าสุดในปี 2018

 

 

แต่ทำไมกัน ทำไมเขาถึงสามารถออกมาขอโทษได้ง่ายดาย ทั้งที่ผู้นำชาติอื่นๆ นั้นยากที่จะยอมรับผิด ขนาดนาฬิกายังบอกของเพื่อนได้สบายๆ หรือแม้แต่ตัวพ่อของจัสติน ทรูโดอย่าง ‘ปิแอร์ ทรูโด‘ ก็ยังต่างกับลูกสิ้นเชิง

ปิแอร์ ทรูโดนั้นเคยดำรงตำแหน่งผู้นำแคนาดาถึง 2 สมัยด้วยกัน ซึ่งในปี 1984 ฝ่ายค้านก็ได้ออกมาขอให้เขากล่าวขอโทษการกักกันชาวแคนาดาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เขากลับปฏิเสธที่จะทำมันพร้อมบอกว่า “หน้าที่ของเราคือ แค่อยู่ในช่วงเวลานี้ของเราเท่านั้น” 

 

 

คำถามดังกล่าวนั้นได้ถูกถามไปยังจัสตินว่า ทำไมเขาถึงกล้าที่จะขอโทษง่ายๆ ต่างจากพ่อ ซึ่งเขาก็บอกว่า “พ่อของผมนั้นเขาเข้ามาในฐานะนักวิชาการ นักรัฐธรรมนูญนิยม แต่ผมนั้นต่างกัน ผมเข้ามาทำงานในฐานะครู ในฐานะของคนที่ทำงานหนักเพื่อสังคม”

ซึ่งเขายังบอกเสริมอีกว่า “การกล่าวคำขอโทษต่อเรื่องต่างๆ ที่ผ่านมาคือส่วนสำคัญที่จะทำให้เรามั่นใจว่าเราเข้าใจ รับทราบ ร่วมแลกเปลี่ยนกันว่าจะไม่ทำผิดซ้ำแบบเดิมอีก”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวจัสตินจะยินดีและไม่เขินอายที่ยอมรับความผิดในอดีตพร้อมออกมากล่าวขอโทษกลุ่มต่างๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนนั้นจะเห็นด้วยกับเขาเสมอไป เพราะการขอโทษนั้นย่อมมีสิ่งที่ตามมาเสมอ

 

 

ยกตัวอย่างเช่น ‘แซลลี เซอร์เชอร์‘ จากเว็บไซต์ Canadian Jewish News ได้ระบุว่า เธอนั้นไม่ต้องการคำขอโทษจากจัสติน ในเหตุการณ์เมืองเซนต์หลุยส์ ปี 1939 ซึ่งแคนาดาไม่ยอมให้เรือที่บรรทุกชาวยิวมาเต็มลำเข้ามาลี้ภัยในประเทศ

เธอบอกว่าการขอโทษของเขามันไม่ได้ช่วยให้ครอบครัวของเธอกลับมามีชีวิตอีกครั้งหรือช่วยให้เธอรู้สึกดีขึ้นเลย แต่มันกลับทำให้รู้สึกว่าการขอโทษนี้มันมีนัยยะที่จะล้างมลทินให้แก่รัฐบาลต่างหาก…

 

 

สุดท้ายแล้ว แม้ว่าจะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่อย่างน้อยเราก็ได้รู้ว่าแคนาดาได้มีผู้นำที่กล้าจะออกมายอมรับผิด และกล้าจะเปลี่ยนแปลงมัน แตกต่างจากประเทศหลายๆ ประเทศที่ยังคงเลือกจะปฏิเสธความผิดและเปลี่ยนเป็นความดีอยู่นั่นเอง

 

ที่มา bbc

Comments

Leave a Reply