คนที่ไว้ใจ…ร้ายที่สุด!! รวมวิธีรับมือเมื่อคุณถูกหักหลังจาก ‘เพื่อนสนิท’

แน่นอนว่า เมื่อเรามีเพื่อนที่เราสนิทและไว้วางใจ เราย่อมซื่อสัตย์ต่อกันและช่วยเหลือกันเมื่อมีโอกาส แต่บางครั้ง เพื่อนของเราอาจจะไม่ได้คิดเช่นนั้น เขาอาจจะมองแค่ประโยชน์ส่วนตนที่อาจจูงใจให้เขาทำพฤติกรรม “หักหลัง” เราก็เป็นได้

โดยเฉพาะเรื่องความรักความใคร่ เรื่องของตัณหานั้นไม่เข้าใครออกใคร สำหรับผู้ที่จิตใจอ่อนแอและควบคุมกามารมณ์ของตนไม่ได้ ก็อาจตอบสนองอารมณ์ตัวเองโดยใช้ “สามี/ภรรยาของเพื่อน” เป็นต้น

Diane Barth นักจิตวิทยาบำบัด นักจิตวิเคราะห์ และนักเขียน ผู้ซึ่งมีความสนใจเรื่องเกี่ยวกับการที่ผู้หญิงถูกเพื่อนหักหลัง และเธอก็กำลังเขียนหนังสือเรื่อง I Know How You Feel: The Joy and Heartbreak of Friendship in Women’s Lives 

Barth จึงได้ทำการสัมภาษณ์ผู้ที่มีประสบการณ์เกี่ยวการถูกเพื่อนหักหลัง พร้อมกับขอคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน จึงสรุปได้ออกมาเป็น 6 คำแนะนำจากนักจิตวิทยา เกี่ยวกับวิธีการรับมือเมื่อถูกเพื่อนหักหลัง จะมีอะไรนั้น ไปรับชมพร้อมกันเลย

 

1. ทำให้สถานการณ์ชัดเจน

 

เมื่อการหักหลังเกิดขึ้น ไม่ว่าคุณจะเป็นคนทำหรือคนที่ถูกกระทำ กรุณาอย่าใจร้อน และอย่าคิดไปเอง ความเจ็บปวดนั้นชั่วคราว แต่ผลลัพธ์ต่อจากนั้นอาจอยู่ตลอดกาล สิ่งที่เราตีความได้จากสถานการณ์จะส่งผลต่อความเจ็บปวดของเรา

ทำให้แน่ใจว่า สิ่งที่เราคิดนั้นถูกต้องตามสถานการณ์ และคุณกับเธอนั้นคิดเหมือนกันว่าตอนนั้นมิตรภาพยังคงอยู่หรือว่าแหลกสลายไปกับความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปแล้ว

 

2. ยอมรับและปรับความรู้สึก

 

เมื่อคุณตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกหักหลังที่ทำให้คุณเจ็บปวด คุณจะเกิดความรู้สึกและอารมณ์ต่างๆ นานา คุณจำเป็นต้องยอมรับความจริงว่าคุณรู้สึกอย่างไร และพยายามควบคุมให้ได้

นอกจากนี้ยังต้องบอกความรู้ของคุณให้คนสำคัญที่คุณไว้วางใจได้รับรู้ เพราะการได้เผยความรู้สึกจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้ แต่ไม่จำเป็นต้องบอกให้คนที่ทำร้ายคุณได้รับรู้

 

3. ไตร่ตรองดูว่าควรปรับความเข้าใจกับเพื่อนเราหรือไม่

 

บางทีเพื่อนที่หักหลังคุณก็อาจจะกำลังปรับความรู้สึกอยู่ก็เป็นได้ ซึ่งในกรณีนี้อาจจะแก้ไขได้ง่ายเพียงแค่เปิดใจคุยกัน ในส่วนของผู้ที่หักหลังก็เช่นกัน บางครั้งคำขอโทษอย่างจริงใจที่โดนปฏิเสธอาจทำให้คุณเจ็บและไม่พึงพอใจ แต่คุณก็สามารถทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และเผยความรู้สึกให้ใครสักคนได้ทราบ สุดท้ายการเปิดใจคุยกันนั้นจะมีผลดีที่สุดก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายยินยอมพร้อมใจ

 

4. ไตร่ตรองดูว่าควรให้อภัยเพื่อนเราหรือไม่

 

บางครั้งการไม่ให้อภัยก็ทำให้เราก้าวไปข้างหน้าต่อได้ เพราะมันทำให้เรายังคงจดจำสิ่งดีๆ ที่เพื่อนเราเคยทำกับเราในอดีตไว้ได้ แต่บางครั้งการให้อภัยก็ทำให้เราก้าวไปข้างหน้าต่อได้เช่นกัน ยิ่งเพื่อนที่สนิทกัน และมีเวลาดีๆ ร่วมกันมากๆ จะทำให้เกิดความคิดถึง และการให้อภัยก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่แย่นัก

 

5. จำไว้เสมอว่าวิธีการที่จะรับมือกับการหักหลังได้ดี ไม่ได้มีเพียงทางเดียวเท่านั้น

 

ก่อนอื่นเลยคุณต้องรับรู้ว่าปัญหาคืออะไร จุดไหนที่ทำร้ายคุณมากที่สุด และคุณรู้สึกอะไรบ้าง เมื่อทำเช่นนี้เสร็จแล้ว มันจะง่ายในการคิดหาทางออกต่อไปด้วยประสบการณ์ของคุณเอง

หากคุณคิดไม่ออกจริงๆ ให้คุณปรึกษาใครก็ได้ที่คุณไว้ใจ เพราะมันจะทำให้คุณเห็นมุมมองคนนอกที่มองเข้ามา และให้คุณลองจินตนาการถึงความเป็นไปได้ทั้งหลายดู เช่น ถ้าทำอย่างหนึ่งผลจะออกมาอย่างไร แล้วถ้าทำอีกอย่างหนึ่งผลจะออกมาอย่างไร เป็นต้น เพียงเท่านี้คุณก็จะรู้ได้ว่าคุณควรทำอะไร หรืออาจจะไม่ต้องทำอะไรเลย

 

6. จงจำไว้ว่า เหตุการณ์มันอาจจะไม่ใช่อย่างที่คุณเห็น

 

หมายถึง อย่ารับความเจ็บปวดนี้ไว้คนเดียว แม้ว่าเหตุการณ์จะกระจ่างชัดว่าคุณถูกหักหลังจริง บางครั้งเรื่องอาจจะเกิดขึ้นจากตัวเราเองที่พลาดมาตั้งแต่แรก ถึงแม้จะเจ็บปวด แต่ขอให้ลองถอยมามองภาพในมุมกว้างๆ มันจะช่วยให้ดีขึ้น หรือไม่ก็เข้าไปคุยกับเพื่อนคุณอย่างตรงไปตรงมา ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้เช่นกัน

อย่าเพิ่งมองว่าวิธีเหล่านี้ไม่สามารถใช้ได้จริง ทุกกระบวนการนั้นต้องใช้เวลาและอาจและมาอย่างยากลำบากด้วยความรู้สึกเจ็บปวด แต่การคิดอย่างรอบคอบ มองในมุมกว้าง และอยู่เหนืออารมณ์ของตนเองให้ได้ จะทำให้คุณสามารถรับมือกับเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น

 

ที่มา: Psychologytoday

Comments

Leave a Reply