ชายผู้สร้างเสียงดนตรีด้วยวิธีการที่ไม่ซ้ำใคร เพราะเขาใช้ผึ้งเป็นส่วนประกอบหลักของเพลง

หนึ่งในแนวดนตรีที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน คือการแต่งเพลงโดยใช้เครื่องมือหรือคอมพิวเตอร์ในการแปลงเสียงต่างๆ ให้ออกมามีจังหวะแบบตื้ดๆ แดนซ์ๆ จนบางครั้งก็อาจดูลึกลับน่าค้นหา ซึ่งเราจะเรียกกันว่าแนวอิเล็กทรอนิกส์

แนวเพลงดังกล่าวนั้นได้กลายเป็นสิ่งที่ทำให้หนุ่มนักดนตรีและคนเลี้ยงผึ้งชาวอังกฤษที่ใช้ชื่อว่า Bioni Samp ลุกขึ้นมาสร้างเพลงแนวเดียวกันแต่ใช้วิธีการที่ไม่ซ้ำใคร เพราะเขาใช้ผึ้งมาเป็นส่วนประกอบในการสร้างเสียงเพลง

 

นักดนตรีผู้คลั่งไคล้ผึ้ง และดัดแปลงรวมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน

 

Bioni คือชายผู้คลั่งไคล้สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าผึ้งมาอย่างยาวนาน เขาจึงเกิดความคิดที่จะช่วยรณรงค์และกระตุ้นให้ทุกคนเริ่มมาสนใจเกี่ยวกับการดูแลรักษาเผ่าพันธุ์ของพวกมันเอาไว้ หลังจากที่เกิดปรากฏการณ์รังผึ้งล่มสลาย (CDC) ที่ทำให้จำนวนประชากรผึ้งลดลงไปอย่างไม่ทราบสาเหตุ ในช่วงปี 2006

ไม่ใช่เพียงแค่ปรากฏการณ์ดังกล่าว เพราะจากภาวะโลกร้อนและการต้องเจอกับยาฆ่าแมลง ทั้งสองอย่างก็นับว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผึ้งมีโอกาสที่จะสูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น ทำให้คนที่รักผึ้งอย่างเขาไม่สามารถอยู่เฉยๆ อีกต่อไปได้

แต่การที่จะให้ไปเดินป่าวประกาศ ออกพูดรณรงค์แบบทั่วๆ ไปนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เขาคิดว่ามันจะสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เขาจึงคิดหาวิธีที่จะทำให้การกระตุ้นผู้คนในครั้งนี้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เขาจึงเกิดความคิดที่จะใช้ดนตรีเข้าไปเป็นสื่อกลางในการดึงดูดความสนใจ

 

 

จากนั้นมาตั้งแต่ปี 2006 เขาก็เริ่มที่จะเก็บข้อมูลของรังผึ้งในแต่ละวัน ศึกษาเกี่ยวกับเสียงและคลื่นความถี่ที่พวกมันส่งออกมา เพื่อใช้ในการนำไปประกอบเพลงที่เขาจะสร้างขึ้นมา

เขาศึกษาและฝึกควบคุมเหล่าผึ้งทุกชนชั้นให้เป็นไปตามทิศทางที่เขาต้องการ มีการใช้ในเรื่องของตัวเลขในการจดสถิติการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของผึ้งเหล่านี้ เก็บข้อมูลผ่านการสอดถาดเข้าไปในรังเพื่อดูว่าไรศัตรูผึ้งตกลงมาตายมากน้อยเพียงใด

ด้วยความกระตือรือร้นของเขา Bioni จึงตัดสินใจสร้างเครื่องมือแปลงเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาจากวัสดุธรรมชาติ อย่างเช่นการใช้น้ำผึ้งเป็นตัวต้านทานไฟฟ้าเพื่อจำกัดแรงไฟที่วงจรต่างๆ ได้ ซึ่งเขาเรียกชุดเครื่องมือสร้างเสียงเพลงนี้ว่า Hive Synthesizer

 

คลิปสารคดีจากสำนักข่าว BBC

 

แนวทางการทำดนตรีของเขาได้กลายเป็นที่รู้จักออกไปในวงกว้าง เขาได้ไปทำการแสดงทั่วยุโรป หรือแม้แต่ในแคนาดา อีกทั้งสำนักข่าว BBC ก็ยังนำเรื่องราวของเขาไปทำเป็นสารคดีเล็กๆ อีกด้วย ในชื่อว่า The Resistance of Honey

การใช้รังผึ้งถึง 3 รัง บวกกับอุปกรณ์จากวัสดุธรรมชาติ บวกกับเสียงดนตรีที่ดังออกมาอย่างมีเอกลักษณ์ทำให้เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล การออกแบบประสบการณ์ของเสียงที่ยอดเยี่ยมที่สุด (Best VR Sound Design Experience) ในเทศกาล Raindance Film Festival ของประเทศอังกฤษ

แต่ด้วยแนวคิดต่อต้านยาฆ่าแมลงของเขา ทำให้ต้องถูกปฏิเสธจากหลายๆ งาน เพราะการแสดงจุดยืนต่อต้านเหล่าสปอนเซอร์ผู้จัดงานนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม และผิดกฎหมายในบางแห่ง ถึงอย่างนั้นเขาก็เลือกที่จะศึกษาค้นคว้าต่อไปนานกว่า 10 ปีแล้ว

 

ตัวอย่างการแสดงสดของเขาในปี 2013

 

อย่างไรก็ตามนี่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งไอเดียล้ำๆ ที่ช่วยทำให้เกิดความแปลกใหม่ ไม่ซ้ำใคร และเชื่อว่าความตั้งใจของเขาจะสามารถช่วยกระตุ้นทุกคนให้หันมาสนใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นนะ

 

ที่มา: odditycentral

Comments

Leave a Reply