คุณยายเบลเยียมป่วยเป็นอัลไซเมอร์ ได้ฟังเพลงโปรดในวัยเด็ก ช่วยให้เธอจดจำสามีได้อีกครั้งหนึ่ง

โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคที่ส่วนใหญ่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม มักแสดงอาการออกมาเมื่อคนเราอายุมากขึ้น เราอาจจะเคยได้ยินหรือแม้แต่เคยพูดคำว่า “คนแก่ขี้หลงขี้ลืม” ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้นที่ว่าโรคนี้จะทำให้ผู้ป่วยเริ่มมีอาการหลงๆ ลืมๆ และทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนจำไม่ได้แม้แต่คนในครอบครัว คนที่รัก และสุดท้ายผู้ป่วยเป็นโรคนี้ก็ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้อีก ถึงแม้ร่างกายจะขยับได้ แต่ก็แทบจะช่วยเหลืออะไรตัวเองไม่ได้เลย

และนี่คือเรื่องราวของคุณยาย Huguette ซึ่งเป็นผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เมื่อปี 2014 คุณยายต้องย้ายเข้าไปอยู่ที่บ้านพักคนชราเพื่อจะได้มีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแล เพราะเธอเริ่มมีภาวะสมองเสื่อม แถมอาการก็แย่ลงเรื่อยๆ จนในที่สุดคุณยายก็พูดแทบไม่ได้ แน่นอนว่าเธอจำผู้คนที่มาเยี่ยมไม่ได้เลย

รวมไปถึงคุณตา David ผู้เป็นสามีด้วย

 

 

แต่แล้ววันหนึ่งองค์กรการกุศล Music For My Mind ซึ่งกำลังศึกษาว่าดนตรีสามารถช่วยผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างไร และหวังว่าจะใช้บทเพลงเป็นตัวช่วยในการดูแลผู้ป่วยในอนาคต ก็ได้บันทึกคลิปวีดีโอเพื่อดูการตอบสนองต่อบทเพลงที่ผู้ป่วยคุ้นเคย

และสำหรับคุณยาย Huguette ผู้เติบโตมาในเบลเยียม เพลงจากนักร้องสาวชาวเบลเยียม Jacques Brel จึงมีอิทธิพลกับคุณยายอย่างมาก บทเพลงที่แสนพิเศษในวัยเยาว์ ที่สะท้อนถึงยุคสมัยที่คุณยายเติบโตมา คือเพลง Ne Me Quitte Pas ซึ่งแปลว่า “อย่าจากฉันไป”

 

 

เมื่อเพลงดังกล่าวบรรเลงขึ้นไม่นานนัก เรื่องราวกับมันซึมซับเข้าไปในจิตใจและสมองแล้วดึงคุณยายคนเดิมกลับมาอยู่ในห้อง เมื่อเธอเริ่มยิ้ม หัวเราะ และร้องตามได้

ไม่เพียงแค่นั้น คุณยายยังหันไปหาสามีที่นั่งอยู่ข้างๆ จ้องมองคุณตา David ในขณะที่คุณตาเองก็มองกลับเข้ามาในดวงตาของภรรยาผู้เป็นที่รัก คุณยายยื่นมือไปสัมผัสใบหน้าของสามี ประคองไว้ในมือ ก่อนจะจูบเขา ทั้งคู่ดูทั้งสุขและเศร้าในเวลาเดียวกัน

 

 

ศาสตราจารย์ Keith McAdam ผู้ก่อตั้ง Music For My Mind กล่าวว่า “เรามีหลักฐานมากมายยืนยันได้ว่าบทเพลงที่คนเรารู้จักเป็นอย่างดีซึ่งคือเพลงที่เคยฟังเมื่อครั้งเป็นวัยรุ่น และอารมณ์ความรู้สึกของรักแรกที่คุณมี สิ่งเหล่านั้นถูกเก็บเอาไว้ในสมองส่วนที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากโรคอัลไซเมอร์มากนัก”

เธอยังบอกอีกว่าในอนาคตอยากจะร่วมมือกับผู้ให้บริการฟังเพลงออนไลน์ เช่น Spotify เพื่อจะใช้บทเพลงจากยุคต่างๆ ในการวิจัยและช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไป

 

คลิปวีดีโอโดย Music For My Mind

 

ที่มา: Dailymail และ Music For My Mind

Comments

Leave a Reply