จากการศึกษาและงานวิจัยบอกว่า ‘การเสพติดเซลฟี่’ อาจเป็นอาการผิดปกติของจิตใจก็ได้

ในโซเชียลมีเดีย เราอาจได้เห็นเพื่อนๆ เซลฟี่โพสต์ลงในโซเชียลมีเดียกันจนเป็นเรื่องปกติ แต่มันอาจจะไม่ปกติอีกต่อไป เมื่องานวิจัยได้ออกมาเผยว่าการเซลฟี่อาจเป็นความผิดปกติทางจิตอย่างหนึ่ง

ย้อนกลับไปในปี 2014 สมาคมจิตเวชอเมริกัน หรือรู้จักกันในชื่อ APA ได้พูดถึงความผิดปกติทางจิตอย่างหนึ่งที่ชื่อว่า Selfitis คือคนที่ถูกการเซลฟี่เข้าครอบงำ ต่อมาในปี 2017 จึงได้มีงานวิจัยออกมาเพื่อยืนยันและจำแนกประเภทของอาการชนิดนี้

 

 

งานวิจัยดังกล่าวถูกตีพิมพ์ใน วารสารนานาชาติที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตและการเสพติด เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน โดยนักวิจัยสองคนจากมหาวิทยาลัย Nottingham Trent University ในอังกฤษ และ Thiagarajar School of Management ในอินเดีย

พวกเขาต้องการยืนยันว่าอาการทางจิตดังกล่าวนั้นมีอยู่จริงและต้องการแบ่งระดับความรุนแรงออกมาให้เราเห็นภาพกันได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตามเงื่อนไขต่างๆ ที่ถูกวางเอาไว้

 

 

ทั้งสองใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวนหลายร้อยคน เพื่อทำการสัมภาษณ์แบบกลุ่ม หลังจากนั้นพวกเขาก็แบ่งระดับความรุนแรงของพฤติกรรมการถูกครอบงำจากเซลฟี่ออกมาเป็น 3 ระดับดังนี้

ระดับ 1 ขั้นเริ่มต้น หมายถึงคนที่ถ่ายเซลฟี่อย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง แต่ไม่ได้โพสต์รูปเหล่านั้นลงโซเชียล

ระดับ 2 ขั้นรุนแรง หมายถึงคนที่ถ่ายเซลฟี่อย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง และโพสต์รูปเหล่านั้นลงโซเชียลมีเดีย

ระดับ 3 ขั้นเสพติดเรื้อรัง หมายถึงคนที่ถูกกระตุ้นให้ถ่ายเซลฟี่อยู่เสมอ ถ่ายเซลฟี่วันละไม่ต่ำกว่า 6 ครั้ง หรือถ่ายชั่วโมงละภาพ และโพสต์รูปทั้งหมดนั้นลงในโลกโซเชียล

 

 

ระดับขั้นความรุนแรงของการเซลฟี่คือสิ่งที่ได้จากงานวิจัยในครั้งนี้ แต่ต้องบอกก่อนว่า Selfitis นั้นยังคงไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติจริงๆ แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะมันยังคงไม่สามารถวินิจฉัยออกมาได้อย่างสมบูรณ์หรือมีค่าสถิติที่เห็นเด่นชัดอย่างอาการผิดปกติทางจิตอื่นๆ เช่นโรคซึมเศร้าหรือโรคไบโพลาร์

ทางฝั่งดอกเตอร์ Mark Salter ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันจิตเวช Royal ในอังกฤษ เขาได้ออกมาพูดว่า “Selfitis คือสิ่งที่ไม่อาจยืนยันได้ และไม่ควรมีตัวตนขึ้นมา”

 

 

อย่างไรก็ตามนักจิตวิทยาบำบัด Amy Morin การเซลฟี่อาจทำให้เราเกิดปัญหาขึ้นได้ในวันข้างหน้า เพราะแทบทุกอย่างบนโลกมีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นสิ่งเสพติด

Amy บอกว่า “มันไม่สำคัญว่าเราเซลฟี่บ่อยมากขนาดไหน แต่ปัญหาคือมันเข้ามากระทบชีวิตของเราหรือเปล่า ยกตัวอย่างหากเราเซลฟี่มากเกินไปจนไม่ออกไปเจอเพื่อนฝูง ไปทำงานสาย มัวแต่สนใจว่าคนในโลกโซเชียลกดไลค์เรามากขนาดไหนจนไม่ได้ทำอะไรเลย นั่นแหละที่จะทำให้การเซลฟี่กลายเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตของเราขึ้นมาในทันที”

 

 

เรื่องของอาการทางจิตที่ชื่อ Selfitis ยังคงจะได้รับการศึกษากันต่อไป ส่วนเพื่อนๆ คนไหนที่รู้สึกว่าตัวเองหรือคนรอบข้างเสพติดการเซลฟี่หรืออะไรซักอย่างขึ้นมา อย่าให้มันเข้ามากระทบกับการใช้ชีวิตของเรากันด้วยนะ

 

ที่มา: businessinsider , telegraph , ladbible

Comments

Leave a Reply