ว่าไงนะ… งานวิจัยเผย ‘เห็ดขี้ควาย’ ช่วยรีเซ็ทสมอง และบรรเทาอาการของโรคซึมเศร้าได้!?

งานนี้สายเมาแบบ Trippy คงต้องมีเฮกันบ้าง หลังมีงานวิจัยจากสถาบัน Imperial College London ที่ค้นพบว่า… เห็ดขี้ควาย (Magic Mushroom) ช่วยรีเซ็ทสมอง และบรรเทาอาการโรคซึมเศร้าได้จริง!?

ถ้าจะให้อธิบายคุณสมบัติแบบหยาบๆ ก็คือ เจ้า Psilocybe Cubensis (เห็ดขี้ควาย) เป็นเห็ดที่มีพิษส่งผลต่อระบบประสาท โดยส่วนใหญ่ผู้ที่รับประทานเข้าไปจะมีอาการ.. เห็นภาพ แสง สี ในรูปแบบที่แตกต่างออกไป

อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิด และอารมณ์คล้ายคลึงกับ LSD ซึ่งเราจะเรียกสสารในหมวดที่สร้างภาพหลอน และมีการเปลี่ยนแปลงเชิงจิตใต้สำนึกนี้ว่า ‘Psychedelic Drugs’

 

ตัวเห็ดมักขึ้นอยู่ตามกองมูลแห้งของควาย สามารถพบได้ในหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก และในแต่ละพื้นที่ก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยทางสายพันธุ์ที่ต่างกันออกไป (รวมถึงอาการที่ได้รับด้วย)

 

มาเข้าเรื่องของเรากันต่อ…

โดย Dr. Robin Carhart-Harris หัวหน้าทีมวิจัยสาร Psychedelic ประจำสถาบัน Imperial College London ได้ให้สัมภาษณ์ถึงผลลัพธ์จากงานวิจัยว่า

“เราได้ค้นพบครั้งแรกว่า อาการที่เกิดขึ้นจากการรับประทาน ‘เห็ดขี้ควาย’ ช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หรือคนที่มีปัญหากับอาการเครียดได้..”

 

 

ก่อนหน้านี้ทีมวิจัยได้รับการอนุญาตอย่างถูกกฎหมาย ให้สามารถใช้เห็ดขี้ควายในการทดลองกับผู้ป่วยจำนวน 19 คนได้ และผู้ป่วยทั้งหมดต่างก็ไม่เคยได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้มาก่อน

“ผู้ป่วยของเราหลายคนให้คำอธิบายว่า หลังจากรับประทานเข้าไปแล้วความรู้สึกของพวกเขาเหมือนถูกรีเซ็ตอีกครั้ง มีความรู้สึกดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในแง่ของอารมณ์ 

อาสาสมัครคนหนึ่งชี้แจงว่า เขารู้สึกเหมือนสมองของตัวเองได้รับการจัดเรียงข้อมูลใหม่อีกครั้ง ในขณะที่บางคนก็บอกว่ารู้สึกเหมือนเป็นคอมพิวเตอร์ที่ได้รีบู๊ทเครื่องใหม่อีกครั้ง” Dr. Robin ชี้แจง

 

 

นอกจากนั้นยังมีการตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์แล้วว่า จากการทดสอบให้ผู้ป่วยได้รับสาร Psilocybin ซึ่งเป็นตัวช่วยทำให้เกิดภาพหลอนในปริมาณที่พอเหมาะ (ในการทดลองใช้แค่ 10 – 25 มิลลิกรัม/วัน)

ช่วยส่งผลให้การทำงานของสมองส่วนอมิกดาลาซึ่งเป็นส่วนสำคัญในระบบปฏิบัติการเกี่ยวกับความจำ และการตอบสนองโดยความรู้สึกทำงานได้ดีขึ้น

 

 

แต่ถึงกระนั้นทีมวิจัยก็ได้ย้ำเตือนว่า… ผลของการวิจัยในครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะใช้สารเคมีที่ส่งผลต่อระบบประสาทได้อย่างหนำใจ

“ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่เราต้องศึกษาต่อไป ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการค้นพบส่วนหนึ่งเท่านั้น และมันก็น่าตื่นเต้นตรงที่เราอาจนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้อย่างจริงจังในอนาคต” 

 

 

สำหรับในประเทศไทย ดอกเห็ด ก้านเห็ด สปอร์ของเห็ดดังกล่าว จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522

 

ที่มา: Independent, Unilad

Comments

Leave a Reply