นักจิตวิทยาแนะนำ 12 เทคนิคแก้ปัญหา Impostor Syndrome โรคที่ “คิดว่าตัวเองด้อยค่า”

บางคนที่ทำงานมาอย่างหนักและประสบความสำเร็จมาโดยตลอด แต่กลับไม่รู้สึกยินดีกับสิ่งนั้น มองว่าตัวเองไม่คู่ควรกับสิ่งที่ได้มา คิดว่าตัวเองไม่ได้เรื่องได้ราวอะไรเลย

หากว่าเป็นอย่างนั้นหมายความว่าคุณอาจกำลังมีอาการของ Imposter Syndrome อยู่ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่มองตัวเองในแง่ลบและรู้สึกด้อยค่า จนบางครั้งมันอาจกระทบเข้ากับการทำงาน การเรียน หรือการใช้ชีวิตของคุณได้

ดังนั้นวันนี้เราจึงจะมาพูดถึงแนวทางการแก้ไข เพื่อให้ทุกคนที่ป่วยเป็นอาการนี้สามารถกลับมาดีขึ้นได้อีกครั้ง เราลองไปดูกันว่ามีอะไรบ้าง

 

เขียนบันทึกไดอารี่สำหรับงานหรือสิ่งที่ได้ทำลงไป

เขียนสิ่งที่ได้ทำสำเร็จและเป้าหมายที่เราสามารถก้าวไปถึงแล้วลงไปในสมุดซักเล่ม เพราะบางครั้งคุณอาจปล่อยให้ความรู้สึกแง่ลบในตัวครอบงำ จนไม่สามารถรับรู้ได้ว่าในวันนั้นคุณทำสิ่งดีๆ อะไรลงไปบ้าง

 

พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องงาน

พยายามหาโอกาสที่เหมาะสมพูดคุยกับเพื่อนในที่ทำงานเดียวกันในเรื่องงานที่ได้ทำ เพราะการพูดอย่างตรงไปตรงมาถึงข้อบกพร่อง ความท้าทาย หรือความสำเร็จของแต่ละคน อาจทำให้รับรู้ได้เองว่าความสามารถและสิ่งที่ต้องเจอของคุณ ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับคนทั่วไปเลย

 

วางเป้าหมายที่ต้องการจะเป็นในอนาคต

การวางแผนเอาไว้ว่าในอนาคต 2 ปี, 5 ปี และ 10 ปีข้างหน้าตัวคุณอยากให้มันเป็นอย่างไร จะช่วยบรรเทาความวิตกกังวลได้ สามารถรู้ได้แล้วว่าสิ่งที่ต้องทำเพื่อไปให้ถึงแผนที่วางไว้ในอนาคตอันใกล้ต้องทำอะไรบ้าง

แผนอีก 10 ปีข้างหน้าที่คุณต้องค่อยเป็นค่อยไปก็จะทำให้คุณไม่รู้สึกว่าตัวเองตกต่ำ ในเมื่อมันต้องใช้เวลาและคุณก็ยังไม่สามารถทำอะไรกับมันได้มากนัก จงพยายามและประสบความสำเร็จไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

 

อย่าคิดว่าไม่สามารถเปลี่ยนแผนที่วางไว้ได้ เพราะจะกลายเป็นการทรมานตัวเอง

เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่าแผนที่วางเอาไว้และดำเนินการอยู่ไม่สามารถทำให้ไปถึงเป้าหมายที่ต้องการได้ ก็จงกล้าตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงมันใหม่ เพราะสิ่งนั้นแสดงให้เห็นว่าคุณเป็นคนมีวุฒิภาวะ การวางแผนสำหรับมาทดแทนอันเดิมจะช่วยให้การตัดสินใจของคุณนั้นง่ายขึ้น

 

ถามหาคำติชม

ความรู้สึกไม่แน่ใจกล้าๆ กลัวๆ กับสิ่งใหม่หรืองานใหม่ที่ต้องทำสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนั้นแทนที่จะเก็บมาเครียดคนเดียว ให้คุณถามหาผลตอบรับจากคนที่คุณไว้ใจว่าสิ่งที่ทำมานั้นเป็นไปในทางที่ดี หรือว่าต้องแก้ไขปรับปรุงอย่างไรกันแน่ เพื่อให้มีการพัฒนางานและลดความคิดที่ว่าเราด้อยค่าลง

 

มองหาผู้นำในจุดที่คุณอยู่และพูดคุยกับเขา

การศึกษาเอาจากผู้นำในจุดเดียวกันจะทำให้คุณรับรู้ได้ว่าพวกเขารับมือกับความยากลำบากอย่างไรบ้าง และช่วยให้เรากำหนดแนวทางของตัวเองได้

แต่ถ้าหากไม่กล้าที่จะถามออกไปตรงๆ ก็ให้สังเกตสิ่งที่คนคนนั้นได้ทำในแต่ละวัน หรือบางทีการเข้าไปดูสิ่งที่เขาโพสต์ลงในโซเชียลมีเดียก็สามารถช่วยคุณได้นะ

 

รู้ไว้ว่าทุกคนสร้างเส้นทางชีวิตเป็นของตัวเอง

สิ่งที่ดีสำหรับคนอื่นไม่จำเป็นว่าต้องใช่สำหรับคุณ เราสามารถสร้างแรงบันดาลใจจากใครคนหนึ่งที่คุณชอบ แต่ต้องไม่ลืมว่าหนทางที่จะไปให้ถึงเป้าหมายขึ้นอยู่กับตัวเราเอง เพราะมีแค่เราที่รู้ว่าแท้จริงแล้วความต้องการและคุณภาพของตัวเองเป็นอย่างไร

 

ทุกสิ่งจะมีเวลาที่เหมาะสมในตัวของมัน

อย่าเปรียบเทียบจุดเริ่มต้นของตัวเองกับจุดกลางหรือจุดจบในเรื่องของคนอื่น ทุกคนมีจุดเริ่มต้นและเส้นทางที่แตกต่างกันไป มั่นใจในตัวเองและก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคงก็พอ

 

ทำให้การขาดประสบการณ์กลายเป็นข้อดีของตัวเอง

การได้เข้าไปอยู่ในสถานที่ใหม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะในขณะที่คุณกำลังเริ่มต้น คนอื่นกลับเคยชินไปกับสิ่งที่พวกเขาทำอยู่เสียแล้ว ทำให้คุณมีโอกาสที่จะถามเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อนจากพวกเขา สามารถที่จะแนะนำสิ่งต่างๆ มุมมองใหม่ๆ ได้ดี

 

คิดเอาไว้ว่าทุกคนสามารถผิดพลาดกันได้

ลองสังเกตดูจากทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครก็สามารถผิดพลาดกันได้ทั้งนั้น ฉะนั้นจงอย่าคิดว่ามันเป็นเรื่องที่หนักหนา แต่ให้เผชิญหน้ากับมัน แก้ไขข้อผิดพลาดและอย่าทำให้มันกลายเป็นเรื่องใหญ่จนเกินไป

 

อย่าปฏิเสธหรือลดความหมายของคำชมที่ได้รับ

ให้ความสำคัญกับคำชมเชยที่ได้รับและแบ่งปันมันให้กับคนรอบข้าง ในเมื่อมีเพียงคุณที่รู้ได้ว่าความท้าทายที่ต้องเจอมันเป็นอย่างไร ก็ขอให้จดจำทุกเวลาที่ประสบความสำเร็จและทุกคำชม สิ่งเหล่านั้นจะทำให้คุณรู้ว่าคุณเก่งขนาดไหน

 

ใจกว้างให้มากกับเรื่องของตัวเอง

บางครั้งคุณอาจชดเชยความไม่มั่นคงของจิตใจด้วยการทำงานอย่างหนักและฝืนตัวเองมากจนเกินไป แม้จะเหมือนเป็นสิ่งที่ดีแต่คุณต้องไม่ลืมที่จะรักและเคารพในตัวเอง เพื่อไม่ให้สิ่งที่ได้ทำย้อนกลับมาทำร้ายคุณในภายหลัง

 

แม้ว่าโรคดังกล่าวจะยังไม่นับว่าเป็นโรคทางจิตเวชอย่างเป็นทางการ

แต่ก็ไม่ควรที่จะมองข้ามอาการดังกล่าวไป เพราะมันจะกลายเป็นตัวทำลายความสุขของคุณเอง

ที่มา: buzzfeed

Comments

Leave a Reply