‘กระโปรงสุ่มไก่’ แฟชั่นแห่งความตายจากยุค ‘วิคตอเรีย’ ที่คร่าชีวิตหญิงสาวมากกว่า 3,000 คน!!

หนึ่งในแฟชั่นที่ยอดนิยมมากที่สุดในช่วงยุค ‘วิคตอเรีย’ ก็คงหนีไม่พ้นกระโปรงสุ่มไก่ ซึ่งเป็นกระโปรงที่มีขนาดกว้างราวกับสุ่มไก่จริงๆ

ทว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่า แท้จริงแล้วแฟชั่น Crinoline หรือกระโปรงบานเป็นสุ่มไก่นี้ จะมีจุดกำเนิดมาจากอะไร และมีจุดประสงค์ทำไปเพื่ออะไร เอาเป็นว่าเราไปตามหาคำตอบพร้อมๆ กันเลย

 

ตัวอย่างโครงสุ่มไก่ที่ถูกนำมาใช้จริงในอดีต

 

เริ่มแรกสุดในช่วงศตวรรษที่ 18 มีการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับกระโปรงสุ่มไก่ขึ้น โดยพบว่าในยุคแรกกระโปรงจะถูกทำจากขนแข็งของม้า เพื่อรักษาสภาพความบานให้คงอยู่ได้ตลอดทั้งวัน

กระทั่งเมื่อแฟชั่นเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้น ก็เริ่มมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนเส้นใยผ้าที่ทำจากขนม้ามาเป็นผ้าฝ้ายแทน ซึ่งตอนแรกสุดเป็นแฟชั่นที่ได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่มชนชั้นสูงเท่านั้น

จนต่อมาแฟชั่นดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะหญิงเล็กหรือหญิงใหญ่ต่างก็ต้องมีกระโปรงสุ่มไก่เก็บเอาไว้อย่างน้อย 1 ตัว ถ้าไม่อย่างนั้นจะถือว่าไม่อินเทรนด์ตามฉบับของคนยุคนั้น

 

โครงสุ่มไก่จะถูกสร้างขึ้นจากโครงเหล็กดัด หรือโครงไม้ดัด ก่อนจะนำผ้ามาติดให้สวยงามจนกลายเป็นกระโปรง

 

แฟชั่นสุ่มไก่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งช่วงปี 1875 George Routledge นักวาดการ์ตูนและนักเขียนได้ออกหนังสือที่บรรยายถึงโทษของแฟชั่นสุ่มไก่ให้สาวๆ ในยุคนั้นได้รับรู้กัน

เนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือที่มีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงวงการแฟชั่นในยุคนั้น ได้ระบุไว้ว่า:

‘กระโปรงสุ่มไก่เป็นกระโปรงที่ต้องระวังมากๆ สำหรับหญิงสาว ไม่ว่าตอนนั่ง ยืน หรือแม้แต่ตอนเดินผ่านประตูเราก็มักจะเห็นพวกเธอติดปัญหาเรื่องกระโปรง

อีกทั้งจากสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้น เราก็ได้เห็นแล้วว่า กระโปรงสุ่มไก่ถูกใช้เป็นที่ลักซ่อนอาวุธที่จะนำมาใช้ก่อเหตุความไม่สงบได้มากน้อยขนาดไหน’

 

 

แม้ว่าจะมีคนพยายามออกมาต่อต้านแฟชั่นนิยมแต่ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นผล เพราะสุ่มไก่กลับได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงขนาดที่ว่าแม้แต่โสเภณีในยุคนั้นก็ยังต้องหามาใส่กัน

แต่ความน่ากลัวของแฟชั่นสุ่มไก่อีกอย่างหนึ่งก็คือ ตลอดช่วงหลายปีที่มันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มชนชั้นล่างทั่วไป

ตัวเลขการรายงานของหญิงสาวผู้เสียชีวิต อันมีสาเหตุมาจากกระโปรงสุ่มไก่ก็พุ่งสูงไปถึง 3,000 คน และมีแนวโน้วเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่ากลัว

ปี 1858 มีรายงานของหญิงสาวชาวบอสตันคนหนึ่ง ที่เผลอยืนใกล้กับกองเพลิงมากเกินไป จากนั้นเพียงแค่ชั่ววินาทีเดียวกระโปรงสุ่มไก่ของเธอก็ลุกไหม้กลายเป็นไฟ

ในปี 1863 Margaret Davey หญิงสาววัย 14 ปี ที่ทำงานเป็นแม่ครัวประจำร้านอาหารแห่งหนึ่ง เสียชีวิตจากเพลิงลุกไหม้บนกระโปรงสุ่มไก่ หลังจากที่เธอปีนขึ้นไปเอาของบนชั้นวางและถูกไฟจากเตาแก๊สลุกลามใส่

หรือแม้กระทั่งครั้งหนึ่งในเมืองฟิลาเดลเฟีย นักเต้นบัลเล่ต์สาว 9 คนเสียชีวิตระหว่างการแสดง เพราะพวกเธอใส่กระโปรงสุ่มไก่และเผลอไปเตะใส่เชิงเทียนล้มจนไฟลุกติดใส่กระโปรง

 

จากนั้นก็มีข่าวการเสียชีวิตที่เกิดจากแฟชั่นสุ่มไก่มากขึ้นเรื่อยๆ ถึงขนาดที่หนังสือพิมพ์ New York Times เคยบันทึกสถิติเป็นเลขกลมๆ ของยอดผู้ประสบภัยจากแฟชั่นนี้เกือบ 40,000 คนเลยทีเดียว!!

 

ไม่ใช่แค่เรื่องของเพลิงไหม้เท่านั้นที่ทำให้หญิงสาวเสียชีวิตจากการสวมสุ่มไก่ เพราะยังมีอีกหลายเคสที่เคยเกิดขึ้นจริงไม่ว่าจะเป็นกรณีโดนเครื่องจักรดูด หรือแม้แต่ถูกล้อเครื่องยนต์ทับกระโปรงจนถึงกับตกรถไฟเสียชีวิตก็เคยมี

กระทั่งในที่สุดช่วงท้ายศตวรรษที่ 18 กระแส Crinolinemania ก็เริ่มจางหายไปบ้าง ผู้คนเริ่มตระหนักถึงปัญหาร้ายแรงถึงชีวิตที่มาจากแฟชั่นที่ไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน (โดยเฉพาะในยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ทุกคนต่างต้องทำงานในโรงงาน)

และปัจจุบันแฟชั่นกระโปรงสุ่มไก่ ก็จะเหลือให้เห็นเฉพาะในงานแต่งงานในบางพื้นที่เท่านั้น ซึ่งถ้าหากใครจะอยากลองหามาใส่ถ่ายแบบดูบ้างก็ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกไฟคอกตาย เพราะปัจจุบันได้มีการปรับใช้เนื้อผ้าแบบไม่นำไฟแทน

 

 

ไม่น่าเชื่อนะว่าแค่เรื่องแฟชั่นกระโปรงอย่างเดียว ก็ทำให้เกิดการสูญเสียได้มากขนาดนี้

ที่มา: Vintagenews

Comments

Leave a Reply