สรุป 6 ข้อจากประชุม “ปฏิรูปการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย” ลงทะเบียนต้องสแกนลายนิ้วมือ-ใบหน้า!!

กลายเป็นประเด็นร้อนไปทั่ววงการสื่อ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนปฎิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบการรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เรื่องผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปใช้สื่อโซเชียลมีเดีย

และในการรายงานดังกล่าวได้มีการเสนอให้แต่งตั้ง ‘คณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์’ ซึ่งจะคอยจัดทำแผนนโยบายส่งเสริมการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

 

 

หลังจากที่มีการประกาศผลรายงานดังกล่าวออกมา ก็กลายเป็นประเด็นร้อนไปทั่วโลกโซเชียล ด้วยเหตุนี้เราจะขอสรุปใจความสำคัญจากเกี่ยวกับแนวการปฏิรูปจากผลการรายงานดังกล่าวแบ่งออกเป็นข้อๆ ดังนี้

 

 1. การเพิ่มมาตรการจัดระเบียบลงทะเบียนมือถือโดยเฉพาะระบบเติมงน

กสทช. มีแผนที่จะใช้ลายนิ้วมือ ควบคู่การลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือด้วยบัตรประชาชน โดยจะเน้นไปที่การบังคับใช้ในพื้นที่ๆ มีเหตุการณ์ความรุนแรงโดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้ง กสทช. ได้เสนอให้บริษัท Operator หาวิธีการจัดเก็บรูปภาพของผู้ลงทะเบียนซิมด้วยเช่นกัน

 

 2. ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรมีมาตรการเสริมในการจำกัดขอบเขตการใช้งานโทรศัพท์มือถือ เฉพาะที่

กสทช. ได้เสนอให้บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต ประสานงานและร่วมมือกันกำหนดพื้นที่ของหมายเลขใช้งานนั้นๆ (เน้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้) และหากผู้ใช้งานมีการเดินทางข้ามเขตพื้นที่ควรให้มีระบบแจ้งเตือน

 

 3. จัดตั้งศูนย์กลางบริหารจัดการข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ

เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์กลางเพื่อเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ที่อยู่ในความครอบครองของผู้ให้บริการ (Operator) อีกทั้งเพื่อเป็นประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่นการสืบสวนข้อมูลเพื่อคดีทางอาญาเป็นต้น

 

leader.senate.go.th

 

4. การจำกัดจำนวนลงทะเบียนของแต่ละบุคคล

กสทช. มองว่ากรณีที่มีการกว้านซื้อซิมโทรศัพท์ประเภทเติมเงิน เพื่อประกอบอาชีพในการสร้างจำนวนไลค์ในระบบโซเชียล และปัญหาจากกลุ่มมิจฉาชีพต่างๆ ทำให้จำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้บุคคลแต่ละคนลงทะเบียนขอใช้งานได้ตามความเหมาะสม

 

 5. การเปิดเผยข้อมูลพื้นฐานของผู้ครอบครองโทรศัพท์มือถือ

กสทช. เชื่อว่าหากประชาชนมีสิทธิและสามารถตรวจสอบผู้ครอบครองโทรศัพท์มือถือได้อย่างเปิดเผยภายใต้ขอบเขต จะช่วยป้องกันมิให้ผู้ใช้สื่อออนไลน์กล้ากระทำความผิด อีกทั้งเสนอให้มีการตรวจสอบข้อมูลของผู้ใช้ทางออนไลน์ได้

 

 6. การกำหนดให้ระบบจัดเก็บข้อมูลของบริการ CDN (Content Delivery Network) และ Caching Server ของสื่อออนไลน์ต่างประเทศ

ทางกสทช. เสนอให้มีการขึ้นทะเบียนให้บริการกับทาง กสทช. และต้องกำหนดให้มีการจัดเก็บ log เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนทางคดี โดยในส่วนการบังคับให้ผู้บริการต้องจัดเก็บข้อมูลนั้น จะถูกแก้ไขเพิ่มเติมในประกาศของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอีกทีนึง

 

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดฉบับเต็ม สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ edoc.parliament.go.th เลยนะครับ 

Comments

Leave a Reply