เด็กสาว ม.ต้น เขียนเรียงความสุดซึ้ง ‘ปฏิเสธคนจังหวัดฟุกุชิมะ’ ชนะใจคนญี่ปุ่นทั้งประเทศ

ย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์อันน่าเศร้าภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 ณ จังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเหตุทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปลดปล่อยสารกัมมันตรังสีออกมา และถือว่าเป็นภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เชอร์โนบิลในปี 1986

 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาต่อจากนั้นก็คือ ความเกลียดชังของผู้คนรอบข้างที่มีต่อจังหวัดฟุกุชิมะและชาวบ้านที่อยู่อาศัยเติบโตภายในจังหวัดนี้ ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ได้เป็นคนเลือกให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และไม่อยากให้เกิดความหายนะเช่นนี้ด้วย

เพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักถึงความเกลียดชังที่เกิดขึ้นในใจของชาวญี่ปุ่น Ruzo Maoma อายุ 15 ปี นักเรียนชั้นมัธยมปี 3 ได้ส่งเรียงความเรื่อง ‘ปฏิเสธตัวตนของจังหวัดฟุกุชิมะ’ เข้าประกวดในงาน การเขียนเรียงความสิทธิมนุษยชนจากนักเรียนชั้นมัธยมต้นทั่วประเทศครั้งที่ 36 โดยมีใจความดังต่อไปนี้

 

ปฏิเสธตัวตนของจังหวัดฟุกุชิมะ

 

นี่เป็นเรื่องที่ทำให้ฉันช็อคมาก สำหรับการเป็นคนจังหวัดฟุกุชิมะอย่างฉัน ฉันเกิดและเติบโตในเมืองมินะมิโซมะ จังหวัดฟุกุชิมะ จนถึงกระทั่งชั้น ป. 3

เมื่อพูดถึงเมืองมินะมิโซมะ เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงทางด้านเทศกาลและวัฒนธรรม ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ในอดีตมาอย่างช้านาน

ฉันรักผู้คนและเมืองมินะมิโซมะในแบบที่เป็นอยู่อย่างนี้…

แต่ทว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เกิดเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ และนั่นก็ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

เพราะสารกัมมันตรังสีที่ถูกปลดปล่อยออกมา ทำให้เมืองมินะมิโซมะกลายเป็นเมืองที่ผู้คนอยู่อาศัยไม่ได้อีกต่อไป และตัวฉันเองก็ต้องย้ายหลบภัยไปอยู่กับญาติพร้อมกับครอบครัวที่จังหวัดโทะชิงิแทน

เมื่อไปถึงที่นั่น ก็พบกับข้อความสติ๊กเกอร์บนรถยนต์คันหนึ่ง ในลานจอดรถร้านค้าที่แวะข้างทางว่า ‘ไม่ยอมรับคนจากจังหวัดฟุกุชิมะ’

หลังจากที่เห็นข้อความนั้น มันทำให้ฉันรู้สึกหวั่นใจในสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป จนเกิดเป็นคำถามในใจว่า ‘นี่มันอะไรกัน’ และฉันก็รู้สึกเศร้าเมื่อเข้าใจในความหมายของมันแล้ว

แม้จะผ่านมาเป็นเวลาร่วม 5 ปีกว่าแล้ว ความเกลียดชังและอคติที่มีต่อจังหวัดฟุกุชิมะยังไม่จางหายไปเสียทีเดียว

เพื่อนคุณยายของฉันได้เดินทางนำสิ่งของไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในจังหวัดคุมาโมโตะ ทั้งๆ ที่ฟุกุชิมะกับคุมาโมโตะไม่ได้ใกล้กันเลย

แต่ทว่ากลับถูกปฏิเสธต่อหน้าด้วยประโยค ‘พวกเราไม่ต้องการสิ่งของที่มาจากฟุกุชิมะ’ อาจจะเป็นเพราะว่าคนในพื้นที่นั้นเกรงกลัวสารกัมมันตรังสี

อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่ประสบภัยพิบัติในช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ ทั้งๆ ที่ทุกคนก็เป็นชาวญี่ปุ่นเหมือนกัน ทำไมถึงกล้าพูดถ้อยคำที่ไม่ถนอมน้ำใจและไร้สาระสิ้นดีเฉกเช่นนี้ออกมาได้

แต่ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งของเหล่านั้นไม่ได้ถูกมอบให้ที่นั่น แต่กลับส่งมอบให้ที่อื่นแทน ซึ่งเมื่อฉันได้ยินเรื่องราวเหล่านั้นมันทำให้รู้สึกย่ำแย่ในจิตใจ เพียงเพราะข่าวลือกัมมันตรังสีในจังหวัดฟุกุชิมะยังคงถูกกล่าวขานต่อไปเรื่อยๆ

ถ้าหากว่าเมืองและผู้คนที่ฉันเติบโตมาด้วยกันถูกปฏิเสธตัวตนแบบนี้ ฉันรู้สึกว่าชีวิตของฉันก็ถูกปฏิเสธไปด้วยเช่นเดียวกัน

จากเหตุแผ่นดินไหวในครั้งนั้น ฉันไม่กล้าที่จะพูดถึงความรู้สึกของตัวเองให้คนอื่นฟังอีกเลย นั่นเป็นเพราะว่าฉันกลัวถูกคนที่มีอคติต่อคนจังหวัดฟุกุชิมะมองในแง่ร้าย แต่ทว่าฉันก็พบกับจุดเปลี่ยนความคิดอีกครั้ง

ย้อนกลับไปเมื่อตอน ป.5 ฉันได้ย้ายมาเรียนที่เมืองโอนะงะวะ จังหวัดมิยะงิ ซึ่งการย้ายมาอยู่ในสถานที่แปลกใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งยังคงกังวลภายในใจกับสิ่งที่จะต้องเผชิญต่อไป

ฉันถึงกับคิดว่าผู้คนจะมองฉันในแง่ร้าย เป็นคนไม่ดี เพียงเพราะว่ามาจากจังหวัดฟุกุชิมะ…

หลังจบการแนะนำตัวหน้าชั้นเรียนและกลับมานั่งที่โต๊ะของตัวเองภายในห้องเรียน นักเรียนรอบข้างฉันนั้นเป็นเด็กผู้ชายหมดเลย และมีหนึ่งในนั้นถามขึ้นมาว่า ‘เธอมาจากฟุกุชิมะอย่างงั้นเหรอ?’

คำถามง่ายๆ แต่ทำให้รู้สึกแย่ยิ่งกว่าสิ่งใด และยิ่งไปกว่านั้นกังวลว่าถ้าบอกไปแล้วจะเกิดอะไรตามขึ้นมาอีกรึเปล่า

อย่างไรก็ตามมันก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ฉันคิด เพราะเป็นคำพูดที่ว่า ‘เธอคงจะลำบากมากเลยนะ’

และคนอื่นก็เสริมขึ้นมาว่า ‘พวกเรามาเป็นเพื่อนกันมั้ย ไปเล่นด้วยกันเถอะ’ ซึ่งมันทำให้ฉันรู้สึกดีด้วย

สำหรับเมืองโอนะงะวะเองก็ประสบกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงเช่นกัน เพื่อนของฉันสูญเสียทั้งบ้านและครอบครัวไปกับคลื่นซึนามิ แต่พวกเขาก็ยังคงใช้ชีวิตต่อไปด้วยความร่าเริง ทำให้ฉันรู้สึกว่าผู้คนที่นี่เข้มแข็งมากๆ

แต่ในขณะเดียวกันที่ตัวฉันเองคิดว่าบอบช้ำมากแล้ว คนเหล่านี้ลำบากกว่าฉันอีกหลายเท่าตัว จนทำให้ฉันรู้สึกละอายใจตัวเองเหลือเกิน

ผู้คนในโอนะงะวะเข้มแข็งจริงๆ และพวกเขาก็ช่วยเหลือฉันหลายครั้งหลายครา

และสิ่งที่ฉันได้รับมาทั้งหมดนี้ก็คือ ‘อคติ’ และ ‘ความเห็นอกเห็นใจ’

อคติ คือ การตัดสินสิ่งรอบข้างภายใต้ความคิดของตัวเองเพียงคนเดียว

ฉันคิดว่ามันเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัวมาก โดยที่ไม่สนใจความรู้สึกของอีกฝ่ายเลย อย่างเช่นในเวลาที่คุณจะต้องพบปะกับผู้อื่น คุณจะมีอคติเกิดขึ้นในใจบ้างรึเปล่า

‘คนนั้นเป็นคนโง่เพียงเพราะทำคะแนนสอบได้ไม่ดี’ หรือ ‘คนนั้นเป็นคนที่เข้าถึงยากเพียงเพราะเขาไม่ค่อยพูดคุยกับใคร’

อคติเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ เวลาที่เรามองคนอื่น เพียงแต่ว่าจะมีเล็กน้อยหรือมากแค่ไหน

แต่สำหรับอคติที่มีมากจนบดบังทุกสิ่ง มันสามารถทำร้ายจิตใจคนได้โดยที่เราเองไม่เคยรู้ตัวเลย

ในทางตรงกันข้าม ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ คือการเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่ายที่มี อย่างที่ฉันได้ย้ายมาที่โอนะงะวะ ก็มีเพื่อนที่เข้าใจในตัวฉัน

การที่พวกเขาเข้าใจในความเจ็บปวดของฉัน เหมือนดั่งความเจ็บปวดของตัวเอง และพร้อมที่จะก้าวข้ามมันไปด้วยกันนั้น ทำให้ฉันรู้สึกประทับใจเป็นอย่างยิ่ง

และด้วยเหตุนี้เอง

ถ้าหากใครซักคนหนึ่งกำลังเจ็บปวด ฉันก็พร้อมที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือพวกเขาในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์เฉกเช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้นแล้ว ฉันอยากจะช่วยเหลือผู้คนที่ทุกข์ทรมาน เหมือนดั่งตัวฉันเองที่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้คนรอบข้าง ต่อจิตใจที่มัวหมองให้กลับมาต่อสู้ได้อีกครั้ง

 

Ruzo Maoma

 

จากการประกวดเรียงความสิทธิมนุษยชนดังกล่าว ซึ่งมีโรงเรียนทั้งหมด 7,338 โรงเรียน ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 972,553 หัวข้อ

และเรื่อง ‘ปฏิเสธตัวตนของจังหวัดฟุกุชิมะ’ ก็ทำให้ Ruzo Maoma ชนะการประกวดและได้รับรางวัลจากสำนักกฎหมายเซนได เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2016 ที่ผ่านมา

ที่มา : ishinomaki.kahoku, ishinomaki.kahoku(2), moj, brandnew-s

Comments

Leave a Reply