แนวคิดจาก CEO บริษัทคาลบี้ เพราะการพัฒนาบุคลากรสำคัญกว่า การให้ทำโอทีจึงไม่จำเป็น…

พูดถึงในเรื่องของการทำหน้าที่การงานภายในบริษัทเอกชนต่างๆ ผู้บริหาร นายจ้างหรือหัวหน้าใหญ่ มักจะมอบหมายงานให้บุคลากรแต่ละแผนกทำอย่างแข็งขัน แบบชนิดที่ว่ายิ่งทำงานให้บริษัทมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งดี เพราะนั่นหมายถึงปริมาณงานที่สามารถดำเนินการได้อย่างไม่สิ้นสุด

แต่ทว่าแนวคิดดังกล่าวจะนำไปสู่การทำงานล่วงเวลา โดยในปัจจุบันไม่ว่าบริษัทไหนๆ ก็มีระบบดังกล่าวเข้ามาแล้ว อาจจะเป็นการทำงานที่เร่งด่วน หรืองานสะสมคั่งค้าง

แต่มองในอีกมุมหนุึ่งของคนที่ต้องทำงานล่วงเวลา การทำงานแบบนี้ส่งผลดีหรือผลร้ายกับใครกันแน่ พวกเขาเต็มใจที่จะทำหรือไม่? บังคับให้ทำงานเกินเวลาโดยไม่นึกถึงจิตใจของพนักงานเลยรึเปล่า?

 

 

ด้วยเหตุนี้เองทางด้านคุณ Akira Matsumoto ประธานบอร์ดบริหาร ผู้ดำรงตำแหน่ง CEO ของบริษัทผลิตขนมในเครือคาลบี้ แห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวประเด็นการทำงานล่วงเวลาและมุมมองการบริหารงานของบริษัทไว้น่าสนใจมากเลยทีเดียว

เนื่องจากตัวเขาเองนั้นมีแนวคิดที่แตกต่างจากการบริหารงานบริษัทอื่นๆ ที่ไม่ค่อยจะมองกัน นั่นก็คือการลงทุนกับปริมาณงานนั้น แทบจะเทียบกับการลงทุนพัฒนาศักยภาพของพนักงานไม่ได้เลย

โดยเฉพาะในสังคมญี่ปุ่นที่มักจะมีภาพติดตาของเหล่าพนักงานบริษัททำงานหามรุ่งหามค่ำ กลับบ้านดึกดื่นเพราะต้องทำงานล่วงเวลา จนกลายเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับคุณ Akira Matsumoto แล้วเขากลับแย้งว่า ‘เลิกซะเถอะ กับการทำงานล่วงเวลาเนี่ย’

 

 

มุมมองของเขานั้น เล็งเห็นว่าถ้าหากให้พนักงานใช้เวลาไปกับการทำงานล่วงเวลาเพียงอย่างเดียว เวลาส่วนนั้นก็จะไม่เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพของพนักงานเลย เพราะนั่นคือเวลาว่างของพวกเขาหลังจากการเลิกทำงานตามเวลาปกติ

คุณ Akira Matsumoto ไม่กังวลในเรื่องของการจ่ายค่าโอทีเลยแม้แต่น้อย มันเป็นเพียงส่วนเล็กๆ เท่านั้น แต่สิ่งที่เขากังวลมากกว่าก็คือ ถ้าให้พนักงานทำโอทีบ่อยๆ ก็จะกลายเป็นคนที่ด้อยประสิทธิภาพไปเรื่อยๆ

 

 

โดยทำการเปรียบเทียบตัวพนักงานเป็นเหมือนดั่ง สินทรัพย์สุทธิ (Net Assets) ซึ่งจะต้องทำให้มูลค่าของสินทรัพย์ภายในบริษัทมีมูลค่าสูงอยู่ตลอด และสิ่งนั้นก็คือคุณค่าในตัวบุคลากรของบริษัทที่ต้องมีเพิ่มเสมอ เมื่อยิ่งเพิ่มคุณค่าก็ยิ่งจะทำให้เป็นที่ต้องการไปด้วย

ในทางกลับกัน ถ้าคุณค่าในตัวบุคลากรลดลงไปตามกาลเวลา มัวแต่ทำงานอย่างไร้จุดหมาย อันไม่เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและบริษัท แล้วบริษัทไหนอยากจะได้คนแบบนี้มาทำงานด้วย? ไม่มีบริษัทไหนต้องการคนด้อยคุณภาพอย่างแน่นอน

 

 

เพราะฉะนั้นแล้วสำหรับบริษัทคาลบี้ญี่ปุ่น ถ้าคุณทำงานที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทเสร็จสิ้นแล้ว ถึงแม้จะเป็นเวลาบ่ายสอง ผม (คุณ Akira) ก็อนุญาตให้คุณสามารถกลับบ้านได้ทันที โดยไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้ถึงเวลาเลิกงานตามปกติ

สำหรับการเริ่มงานตอนเช้า คุณจะมากี่โมงก็ได้ ไม่มีกำหนดเวลาเข้างานสาย ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ต้องเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศก็ยังได้เลย

 

 

แต่ทว่าเวลาที่เหลือหลังจากนั้น อยากจะให้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ หาอะไรทำที่ก่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าและพัฒนาศักยภาพของตัวเอง ที่จะช่วยยกระดับตัวคุณให้สูงขึ้น เพราะว่า คนที่เก่งกาจสามารถมาก ไม่ได้เก่งมาตั้งแต่กำเนิดหรอก

 

 

แต่การที่คนหนึ่งคนมีความเก่งกาจขึ้นมาได้นั้น ก็เป็นเพราะว่ามีการเรียนรู้ หมั่นฝึกฝน และสั่งสมประสบการณ์มาเรื่อยๆ อย่างการใช้เวลาว่างที่มีอยู่กับครอบครัวอย่างคุ้มค่า คอยดูแลสุขภาพของตัวเอง เพิ่มพูนความรู้ด้วยการอ่านหนังสือ ทำสวน ฝึกทำอาหาร งานช่าง หรืออะไรก็ได้ ที่เป็นการพัฒนาตัวเอง

เมื่อสะสมสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน จะทำให้บุคคลนั้นมีประสิทธิภาพสูงมากๆ อย่างผมเองก็ยังต้องการเวลาว่างมากกว่าเวลาทำงานเสียอีก เพราะจะได้รับความสุขในแต่ละวันมากขึ้น

 

 

แล้วเวลาว่างที่เหลือเนี่ย ผมจะไม่ลงไปสอนคุณหรอก ผมจะให้โอกาสคุณได้ค้นหาเอง เรียนรู้ด้วยตัวเอง ไปลงมือทำอะไรก็ได้ มันจะดีกับคุณหรือไม่ ก็ต้องตัดสินด้วยตัวเอง ถ้าคุณได้รับโอกาสแล้วแต่กลับเอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ ก็จะไร้วี่แววของอนาคต

เพราะบริษัทไม่ได้มีหน้าที่ต้องมาสอนคนในการจัดสรรเวลาที่เหลือนอกเหนือจากการทำงาน เปิดโอกาสให้คุณได้เรียนรู้ทุกสิ่ง ตามเท่าที่คุณจะสามารถไขว่คว้ามาได้ และตอบแทนบริษัทด้วยคุณประโยชน์ของตัวเองที่ได้มา

 

 

ยกตัวอย่างจะตัวผมเองในตอนแรก ที่เติบโตมาในยุคการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง อยากจะมีความก้าวหน้าทางหน้าที่การงาน ก็ต้องตั้งเป้าหมายอยากรวย อยากจะประสบความสำเร็จ ก็ต้องหมั่นพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

ย้อนกลับไปช่วงอายุ 20 -30 ผมต้องไปดำเนินงานธุรกิจต่างประเทศ และกลับมาทำงานที่บริษัทภายในประเทศญี่ปุ่น และตอนที่กลับมาทำงานในญี่ปุ่นนี่แหละ ต้องทำงานล่วงเวลาอยู่บ่อยๆ

ก็ยิ่งทำให้สงสัยว่าจะต้องจ่ายค่าโอทีไปเท่าไหร่ คุ้มค่าหรือไม่ แม้ว่าการที่มีคนทำงานให้บริษัทตลอดจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ผมคิดว่าผมอยากจะหยุดบางสิ่งเพื่อไม่ให้เป็นการฝังคนทั้งเป็นอย่างช้าๆ

 

‘การจ่ายเงินค่าล่วงเวลานั้นน้อยนิด เมื่อเทียบกับเวลาของพนักงานที่ต้องเสียไปนั้น แทบจะเทียบกันไม่ได้’

 

ถ้าคุณมีความคิดอยากจะได้เงินเยอะๆ ส่วนใหญ่ก็มักจะมองหาตำแหน่งงานสูงๆ มีการตอบแทนที่เหมาะสม แต่สำหรับผมแล้วผมมักจะคิดถึงสิ่งที่ต้องทำอยู่เสมอ จะทำอย่างไรเพื่อให้ตัวเองมีมูลค่าสูงขึ้น ผมถึงกับตั้งสมมติฐาน ลงไปทดสอบในที่ทำงาน แก้ไขข้อผิดพลาด และทำซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนั้น

 

‘เพื่อเพิ่มมูลค่าของตัวเองให้สูงขึ้น สิ่งแรกที่คุณต้องทำก็คือพิสูจน์ตัวเองให้คนอื่นได้เห็น’

 

หลังจากนั้นแล้ว แม้ผมคิดว่าผมทำได้ดี จากการประเมินด้วยตนเอง ทุกอย่างจะไม่มีความหมายจนกว่าคุณได้รับการยกย่องจากผู้อื่น และถ้าคุณอยากได้รับการยกย่องและยอมรับจากผู้อื่น คุณก็ต้องพัฒนาตัวเอง

 

‘ส่วนวิธีการเพิ่มคุณค่าในตัวเองนั้น ไม่มีอะไรตายตัว ผมว่านั่นแหละคือเป้าหมายของคุณ ที่จะต้องค้นหาเอง’

 

เพราะฉะนั้นแล้ว ขอให้ทุกคนจงใช้เวลาอย่างคุ้มค่าทุกวินาที เพิ่มคุณค่าของตัวเองด้วยเวลาที่มีอยู่ เพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางของชีวิตคุณเอง เนื่องจากเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก อย่ามัวเสียเวลาไปกับการทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แต่จงทำในสิ่งที่คุณควรทำ

 

 

อีกหนึ่งแนวคิดดีๆ จากระดับผู้บริหารบริษัทที่เห็นคุณค่าในตัวพนักงาน ที่มากกว่าปริมาณเวลาที่สูญเสียไปกับการทำงานล่วงเวลา อันไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งตัวงานและตัวบุคคล

เพราะการพัฒนาบุคลากรนั้นสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เมื่อพนักงานมีคุณภาพ งานก็จะมีคุณภาพตามไปด้วย พนักงานก็แฮปปี้ บริษัทก็ยิ่งได้รับประโยชน์เพิ่มมากยิ่งขึ้น

 

ที่มา: wedge, blogos

Comments

Leave a Reply