สถานีวิจัยร้างที่แอนตาร์กติกา กลับมาทำงานหลังถูกทิ้ง พร้อมส่งข้อมูลให้นักวิจัย

ย้อนกลับไปในปี 1956 องค์กรศึกษาขั้วโลกอย่าง “British Antarctic Survey” (BAS) ได้ทำการก่อสร้างสถานีวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชื่อ The Halley เอาไว้ที่ชั้นน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกา เพื่อทำการศึกษาสภาพแวดล้อมในพื้นที่

 

 

ตั้งแต่ในปีนั้นมาสถานีวิจัยแห่งนี้ก็ถูกสร้างขึ้นมากใหม่ในที่ที่เดิมหลายต่อหลายครั้ง จนกระทั่งในปี 2017 ในที่สุดทีมนักวิทยาศาสตร์ก็จำเป็นที่จะต้องทิ้งสถานีวิจัยแห่งนี้ไป เพื่อตั้งสถานีวิจัยใหม่ในพื้นที่ห่างออกไปกว่า 20 กิโลเมตร จากปัญหาความอันตรายที่เกิดขึ้นจากการพังทลายที่เพิ่มขึ้นในชั้นน้ำแข็ง

แต่แทนที่สถานีวิจัยที่ถูกทิ้งร้างไปแล้วแห่งนี้จะหยุดทำงานไปโดยสิ้นเชิงเหมือนกับสิ่งปลูกสร้างที่ถูกทิ้งร้างทั่วๆ ไป ตลอดช่วงเวลากว่า 4 เดือนที่ผ่านมาสถานีวิจัย The Halley กลับยังคงทำงานต่อไปอย่างเดียวดายเรื่อยมาท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น และส่งข้อมูลมาให้นักวิทยาศาสตร์ในสถานีวิจัยใหม่อยู่เป็นพักๆ

 

 

นี่อาจจะเป็นเรื่องที่ฟังดูคล้ายเรื่องสยองขนหัวลุกสำหรับหลายๆ คน แต่เอาเอาจริงๆ แล้วการที่สถานีวิจัย The Halley ทำงานต่อไปแม้จะไม่มีคนอยู่ข้างในแล้วนั้นเกิดขึ้นจากความตั้งใจของทีมนักวิทยาศาสตร์ล้วนๆ

หลังจากที่หลับไปตั้งแต่ช่วงปี 2017-2018 สถานีวิจัยแห่งนี้ก็ถูกปรับแต่งให้สามารถปฏิบัติการผ่านการควบคุมจากระยะไกลได้ ด้วยการติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้ารุ่นใหม่ ที่จะทำให้สถานีวิจัยสามารถปฏิบัติการต่อไปได้เป็นเวลาต่อเนื่องถึง 9 เดือน แม้แต่ในสภาวะอากาศที่อุณหภูมิติดลบ 40 องศา หรือสภาพท้องฟ้ามืดสนิทก็ตาม

อ้างอิงจากทีมนักวิจัย ในปัจจุบันหน้าที่ของสถานีวิจัย The Halley จะเกี่ยวข้องกับการเก็บข้อมูลของ “หลุมโอโซนแอนตาร์กติก” พื้นที่ซึ่งระดับโอโซนได้ลดลงไปต่ำมากๆ ของโลก ซึ่งถูกค้นพบในช่วงปี 1985 และเชื่อกันว่ามีความเกี่ยวข้องกับการสะสมของสารเคมีกลุ่มคลอรีนในชั้นบรรยากาศ

 

ระบบผลิตกระแสไฟฟ้ารุ่นใหม่ซึ่งถูกเรียกกันด้วยชื่อเล่นว่า “เครื่องเจ็ตในกล่อง” (Jet engine in a box)

 

เมื่อถูกสอบถามเกี่ยวกับความสำเร็จของสถานีวิจัย The Halley ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา คุณ Thomas Barningham ผู้นำโครงการก็บอกว่า

“นี่นับว่าเป็นครั้งแรกที่พวกเขาทำการทดลองแบบนี้ ดังนั้นนี่จึงเป็นเพียงแค่ระบบต้นแบบ ที่อาจจะเกิดเรื่องที่ไม่คาดฝันขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้นการที่มันสามารถทำงานได้ในแบบปัจจุบันจึงเป็นอะไรที่พวกเราพอใจเป็นอย่างมาก”

 

 

ทั้งนี้เองคุณ Thomas ยังได้บอกไว้อีกว่าแม้ว่าในปัจจุบัน BAS จะปล่อยให้สถานีวิจัยทำงานด้วยตัวเองในสภาพกึ่งทิ้งร้างก็ตาม แต่พวกเขาก็ไม่ได้คิดที่จะทิ้งสถานีวิจัยแห่งนี้ไปโดยสมบูรณ์แต่อย่างไร เพราะเขาและทีมวิจัยเองก็จะมีแผนการที่จะกลับไปทำการวิจัยที่ตัวสถานีวิจัยโดยตรงในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

ซึ่งเมื่อเวลานั้นมาถึง เขาก็หวังเป็นอย่างมากว่าจะสามารถเดินเข้าไปในสถานีวิจัยและพบว่าระบบไฟฟ้าของมันจะยังคงทำงานอยู่อย่างสมบูรณ์แบบต่อไป

 

ที่มา livescience, bbc และ newatlas


Tags:

Comments

Leave a Reply