พบ “ไข่ปลา” ในมูลของหงส์ แม้จะโดนกินเข้าไป ยังรอดออกมาและฟักเป็นตัวได้

คุณคิดว่าถ้า “ไข่ปลา” ถูก “หงส์” กินเข้าไป พวกมันจะยังคงมีชีวิตรอดอยู่ได้หรือไม่?

หลายคนคงคิดไม่รอดอย่างแน่นอน แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เมื่อล่าสุดมีงานวิจัยวิทยาศาสตร์ออกมา ว่าพบไข่ปลาที่รอดชีวิตจากการถูกหงส์กิน หลังจากถูกถ่ายออกมากับอุจจาระและฟักตัวหลังจากนั้น

 

 

งานวิจัย “ไข่ของปลาคิลลี่ฟิชจะสามารถรอดชีวิตจากระบบย่อยอาหารของหงส์ได้หรือไม่” ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Ecology เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2019 ที่ผ่านมา

โดยไอเดียนี้เริ่มมาจาก Giliandro Silva นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Unisinos ประเทศบราซิล กับเพื่อนร่วมงานอีกบางส่วน ซึ่งเคยทำการสำรวจอุจจาระของหงส์ และบังเอิญพบว่ามีไข่ปลาคิลลี่ฟิชอยู่ในนั้นด้วย

พวกเขาจึงได้ตัดสินใจที่จะหาคำตอบของคำถามนั้น โดยการทำวิจัยเรื่องดังกล่าว

 

 

Silva และเพื่อนๆ ได้รวมไข่ปลาคิลลี่ฟิชที่แตกต่างกันสองสายพันธุ์จำนวน 650 ฟอง ก่อนนำไปให้หงส์ในสวนสัตว์บราซิลกิน เพื่อให้ง่ายต่อการสังเกตและทำการวิจัย

ซึ่งจากการเก็บข้อมูลอยู่ช่วงหนึ่ง พบว่าจากไข่ทั้งหมด 650 ฟองนั้น มีไข่จำนวน 5 ฟองหรือคิดเป็นเลขกลมๆ ประมาณ 1% เท่านั้นที่เหลือรอดจากระบบการย่อยอาหารของหงส์ได้

โดย 2 ใน 5 ฟองนั้น ถูกถ่ายออกมาภายใน 4 ชั่วโมงที่ถูกหงส์กินเข้าไป ส่วน 3 ฟองที่เหลือ ต้องใช้เวลาอยู่ในกระเพาะของหงส์เป็นอย่างต่ำกว่า 30 ชั่วโมง กว่าจะออกมาได้

 

 

พวกเขาได้นำไข่ทั้ง 5 ฟองไปทดลองฟักต่อ ซึ่ง 3 จาก 5 ฟองที่รอดสามารถฟักและเติบโตกลายเป็นปลาคิลลี่ฟิชสุขภาพดี แต่น่าเศร้าที่อีก 2 ฟองที่เหลือนั้นตายลงจากอาการติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม คำถามต่อมาก็คือแล้วไข่ปลาคิลลี่ฟิชจะไม่ตายเหรอหากมันถูกถ่ายออกมาพร้อมอุจจาระแล้วไม่ได้รับน้ำ

ตรงนี้เองก็คือความพิเศษของไข่ปลาคิลลี่ฟิช เพราะแม้ว่ามันจะต้องการน้ำ แต่ไข่ของมันก็สามารถอยู่รอดปลอดภัยได้ในพื้นที่แห้ง จนกว่าฝนจะตกลงมา ซึ่งพวกมันถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ยืดหยุ่นมากเลยทีเดียว

 

 

“นกนั้นถูกยอมรับในฐานะตัวแทนของการกระจายสิ่งมีชีวิตอย่างพืชหรือไข่ของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง แต่สิ่งที่เราทำนี้คือการพิสูจน์ว่ามันยังสามารถช่วยกระจายชีวิตปลาได้อีกด้วย” Silva กล่าว

 

เรียบเรียงโดย #เหมียวโคบี้

Comments

Leave a Reply