ทีมแพทย์จีนเผย พบไวรัสชนิดใหม่ทางเหนือของประเทศ เชื่ออาจมีเห็บเป็นพาหะ

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา วารสารทางการแพทย์ New England Journal of Medicine ได้ออกมานำเสนอการค้นพบไวรัสตัวใหม่ที่กำลังระบาดในประชาชนชาวจีนในปัจจุบัน และมีพาหะเป็นเห็บ

เจ้าไวรัสตัวใหม่นี้ ในปัจจุบันถูกเรียกกันด้วยชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่าไวรัส “Alongshan” และมีรายงานว่าผู้ติดไวรัสจะมีอาการตั้งแต่ ไข้สูง ปวดหัว เหนื่อยล้า คลื่นไส้ ผื่นขึ้นตัว และในบางกรณีก็อาจรุนแรงถึงขั้นโคม่าได้เลย

 

 

อ้างอิงจากรายงาน ไวรัสตัวนี้ถูกค้นพบในเดือน เมษายน ค.ศ. 2017 และมีคนไข้คนแรกเป็นชาวนาวัย 42 ปี ผู้อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน โดยในเวลานั้นชายคนดังกล่าวเข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลจากอาการปวดหัว และเป็นผื่น ไม่นานหลังจากที่เขาโดนเห็บกัด

ลักษณะอาการเช่นนี้ทำให้ทีมแพทย์เชื่อว่าชายคนดังกล่าวเป็นโรคไข้สมองอักเสบจากเห็บ (Tick-borne encephalitis)

อย่างไรก็ตามเมื่อพวกเขาตรวจคนไข้ดูจริงๆ แพทย์กลับไม่พบร่องรอยของโรคไข้สมองอักเสบจากเห็บเลย แถมกลับกันทีมแพทย์ยังพบกับไวรัสตัวใหม่ที่พวกเขาไม่เคยพบมาก่อนด้วย

 

ไวรัส Alongshan

 

เท่านั้นยังไม่พอเพราะหลังจากที่ทีมแพทย์พบไวรัสตัวใหม่นี้ พวกเขาก็พบอีกว่าจากคนไข้ 374 รายที่มารักษาตัวในโรงพยาบาลจากอาการใกล้เคียงกันในช่วงเวลา 5 เดือนต่อมา มีคนไข้ถึง 86 คนที่ติดไวรัสชนิดใหม่นี้

อ้างอิงจากจุดร่วมของคนไข้ที่มักจะเป็นชาวไร่ชาวนา หรือทำงานหาของป่า เหล่านักวิจัยก็คาดกันว่าไวรัสตัวนี้น่าจะติดต่อกันผ่านเห็บสายพันธุ์ Ixodes persulcatus ซึ่งพบได้ในยุโรปตะวันออกและเอเชียเป็นหลัก แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ว่าพาหะจริงๆ ของโรคนี้อาจจะเป็นยุงก็ตาม

หากข้อสันนิษฐานเรื่องพาหะของโรคเป็นจริง นั่นจะหมายความว่าโรคนี้จะมีความเสี่ยงที่จะติดต่อกันได้ในทุกที่ที่มีพาหะชนิดนี้อยู่ ซึ่งในกรณีนี้ประเทศที่น่าเป็นห่วงก็จะเป็น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และรัสเซีย

 

พื้นที่ของประเทศจีนที่มีการพบคนไข้ติดไวรัส Alongshan ในปัจจุบัน

 

แต่ประเทศที่กล่าวมาข้างต้นนี้ก็ไม่ใช่ประเทศกลุ่มเดียวที่เสี่ยงต่อการติดไวรัส Alongshan แต่อย่างใด

เพราะหากเจ้าไวรัสตัวนี้สามารถติดต่อกันในหมู่เห็บต่างสายพันธุ์ได้ มันก็อาจจะติดต่อไปสู่เห็บสายพันธุ์อื่นๆ จนกระจายไปอยู่ในอีกหลายพื้นที่ในโลก ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยได้ไม่ยากเลย แม้ในปัจจุบัน เราจะยังไม่มีตัวอย่างการติดต่อดังกล่าวให้เห็นก็ตาม

 

ที่มา livescience, cidrap

Comments

Leave a Reply