ย้อนเวลาไปชมต้นกำเนิดและชนิดของ ‘ไอศกรีม’ ที่ไม่ได้มีแค่แบบเดียว!

ท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนอบอ้าว หลายคนคงกำลังมองหาของหวานเย็นๆ อย่าง ‘ไอศกรีม’ มาเพิ่มพลังให้ร่างกาย รู้สึกสดชื่น อารมณ์ดี กระปรี้กระเปร่า วันนี้ #เหมียวเปปเปอร์ เลยนำเรื่องเล่าของไอศกรีมมาฝากเพื่อนๆ กัน

ไอศกรีมที่นิยมทานกันทั่วโลกนั้น มีต้นกำเนิดมาจากไหน แบ่งได้เป็นกี่ประเภท ตามเรามาหาคำตอบกันได้เลย…

 

 

ต้นกำเนิดของไอศกรีม

ต้นกำเนิดของไอศกรีมนั้น ไม่ระบุแน่ชัดว่ามาจากไหน บ้างก็ว่าไอศกรีมมีต้นกำเนิดจากประเทศจีนเมื่อ 200 ปีก่อนคริสต์ศักราช จากการที่ในสมัยโบราณ ‘นม’ เป็นของหายาก จึงมีการเก็บรักษาไว้โดยการแช่ในน้ำแข็ง ทำให้เกิดเป็นไอศกรีมขึ้นมา

แต่บ้างก็บอกว่าไอศกรีมเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยจักรพรรดิเนโรแห่งจักรวรรดิโรมัน ราวปี ค.ศ 37–68 มีการนำน้ำแข็งจากถ้ำมาผสมน้ำผึ้งและผลไม้มาทำเป็นไอศกรีม

 

 

นอกจากนั้นยังมีเรื่องเล่าว่าไอศกรีมเกิดจาก Marco Polo นักเดินทางชาวอิตาลี ได้นำวิธีไอศกรีมจากประเทศจีนมาเผยแพร่ในยุโรป กลายเป็นเจลาโตที่นิยมในปัจจุบัน

ส่วนในประเทศไทยนั้น ไอศกรีมเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีการสั่งเครื่องทำน้ำแข็งเข้ามาในประเทศไทย เพื่อทำไอศกรีมเป็นของเสวยสำหรับชนชั้นสูง หลังจากนั้นไอศกรีมก็ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมาจนถึงทุกวันนี้

 

6 ประเภทของไอศกรีม

ไอศกรีม (Ice cream)

ของหวานเย็นชื่นใจ ทำจากครีม นม น้ำตาล ปั่นรวมกันให้ข้นในอุณหภูมิต่ำ มีสัดส่วนไขมันอย่างน้อย 10%

 

เจลาโต (Gelato)

ไอศกรีมเนื้อเนียนนุ่ม มีส่วนผสมของนมมากกว่าครีม ทำให้มีไขมันต่ำกว่าไอศกรีมทั่วไป เป็นที่นิยมในประเทศอิตาลี

 

ซอฟต์เสิร์ฟ (Soft serve)

ไอศกรีมเนื้อเบา ฟูฟ่อง ไม่เกล็ดน้ำแข็ง ละลายในปาก มีไขมันเพียง 3-6%

 

เชอร์เบท (Sherbet)

เป็นไอศกรีมที่มีส่วนผสมของผลไม้ น้ำตาล เติมนมหรือครีมอีกเล็กน้อย 1-2% รสชาติหวานกว่าไอศกรีมทั่วไป

 

ซอร์เบท (Sorbet)

ไอศกรีมที่มีส่วนผสมเพียงสองอย่างคือผลไม้และน้ำตาล หรือจะเรียกง่ายๆ ว่าน้ำผลไม้ปั่นแช่แข็ง ไม่มีส่วนผสมของไขมัน ทานแล้วไม่อ้วน

 

โฟรซเซนโยเกิร์ต (Frozen yogurt)

ของหวานแช่แข็งที่มีส่วนผสมหลักคือโยเกิร์ตหรือผลิตภัณฑ์จากนมวัว โดยจะแตกต่างจากไอศกรีมคือมีส่วนประกอบของไขมันที่น้อยกว่าเนื่องจากใช้นมบริสุทธิ์แทนที่ใช้ครีม มีหลากหลายรสชาติและเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพ

 

ไอศกรีมแต่ละแบบให้รสชาติและเนื้อสัมผัสที่แตกต่างกันออกไป แล้วเพื่อนๆ ล่ะ ชอบไอศกรีมแบบไหน คอมเมนต์บอกกันได้เลย

 

ที่มา: wikipedia, businessinsider, delish, mesineskrim, geniuskitchen


Tags:

Comments

Leave a Reply