นักวิจัยจำลองการเคลื่อนไหวใบหน้า “โมนาลิซา” ด้วย AI ผลออกมา “สมจริง” แบบสุดๆ

เมื่อพูดถึงภาพวาดชื่อดังอย่าง “โมนาลิซา” ของจิตรกรชื่อดังอย่างเลโอนาร์โด ดา วินชีแล้ว ชื่อว่าหลายๆ คนก็คงจะนึกถึงภาพของหญิงสาวผู้มากับรอยยิ้มสุดลุกลับขึ้นมาก่อนเป็นสิ่งแรก ว่าแต่เคยสงสัยกันไหมว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากผู้หญิงคนนี้ลองแสดงสีหน้าอื่นๆ นอกจากหน้ายิ้มขึ้นมา

นั่นเพราะเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้เองกลุ่มนักวิจัยที่นำทีมโดยคุณ Egor Zakharov ก็ได้ทำการโพสต์วิดีโอตัวหนึ่งลงบนเว็บไซต์ยูทูบ โดยมีส่วนหนึ่งของวิดีโอเป็นภาพของโมนาลิซา ที่กำลังเคลื่อนไหวใบหน้าด้วยท่าทางและอารมณ์ต่างๆ กัน ซึ่งเราคงไม่มีวันได้เห็นจากภาพวาดต้นฉบับแน่ๆ

 

 

อ้างอิงจากข้อมูลของทีมวิจัย การเคลื่อนไหวที่เพื่อนๆ เห็นนี้เกิดขึ้นจากการประมวลผลข้อมูลของระบบโครงข่ายประสาทเทียมหรือ “Neural Network” ระบบ AI ซึ่งมีการประมวลผลข้อมูลในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับมนุษย์

ในงานวิจัยชิ้นนี้ นักวิจัยได้ทำการ “ฝึกฝน” ระบบอัลกอริทึมของโครงข่ายประสาทเทียมให้เข้าใจการทำงานของการแสดงอารมณ์ต่างๆ บนใบหน้ามนุษย์ ก่อนที่ปรับใช้ความรู้เหล่านั้นกับรูปภาพ จนเกิดเป็นเหตุการณ์ที่ภาพต่างๆ เคลื่อนไหวและแสดงอารมณ์อย่างที่เห็น

 

 

โดยสำหรับภาพของโมนาลิซา ระบบได้ทำการเรียนรู้การเคลื่อนไหวของใบหน้ามนุษย์ 3 แบบที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก และนำมาสร้างการเคลื่อนไหวใบหน้าของโมนาลิซา ซึ่งผลที่ออกมานั้นเรียกได้ว่าดีอย่างไม่น่าเชื่อ และสีหน้าที่ออกมาทุกแบบนั้นก็ล้วนแต่ยังสามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าเป็นโมนาลิซาจริงๆ

ที่น่าสนใจคือนอกจากโมนาลิซาแล้ว ทีมวิจัยยังได้นำระบบดังกล่าวไปทดลองกับภาพอื่นๆ อีกหลายภาพ อย่างภาพของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ มาริลิน มอนโร และซัลบาโด ดาลีอีกด้วย และแน่นอนว่าผลงานที่ออกมาก็ดูดีไม่ได้ด้อยไปกว่าโมนาลิซาเลย

 

 

ทีมวิจัยกล่าวเกี่ยวกับการทดลองในครั้งนี้ว่า การสร้างภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบนี้มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะศีรษะของมนุษย์นั้นมีความซับซ้อนทางเรขาคณิตสูงมาก อีกทั้งหากมีอะไรผิดพลาดไปเพียงนิดเดียวมนุษย์ก็จะสามารถเห็นมันได้อย่างรวดเร็วด้วยระบบความคุ้นเคยของสมองอีกด้วย

ดังนั้นแล้วกว่าที่พวกเขาจะฝึกระบบขึ้นมาได้ขนาดนี้ พวกเขาจำเป็นต้องใช้ภาพและข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงปริมาณมหาศาลมากในการลงมือ ถึงอย่างนั้นก็ตามผลที่ออกมานั้นก็เรียกได้ว่าคุ้มค่ามาก เพราะผลงานของเอไอที่ออกมานั้นเรียกได้ว่า “สมจริง” แบบสุดๆ ไปเลย

 

วิดีโอต้นฉบับจากช่องยูทูบ Egor Zakharov

ที่มา livescience, arxiv และช่องยูทูบ Egor Zakharov

Comments

Leave a Reply