นักโบราณคดีพบ “โล่เปลือกไม้” เป็นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เชื่อมีอายุกว่า 2,300 ปี

ในวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 2019 ทีมนักโบราณคดีของประเทศอังกฤษได้ออกมาประกาศการค้นพบโล่โบราณที่มีอายุกว่า 2,300 ปี  ในพื้นที่ Enderby ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเลสเตอร์ สหราชอาณาจักร

 

 

โล่ที่มีการพบในครั้งนี้เป็นโล่ที่ทำจาก “เปลือกไม้” และเป็นหลักฐานชิ้นแรกของอังกฤษที่บอกว่าคนในยุคเหล็กมีการใช้งานวัสดุที่ดูอ่อนแอในการทำเป็นโล่ อ้างอิงจากข้อมูลของนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์

ทีมนักโบราณคดีกล่าวว่าโล่ชิ้นนี้ถูกพบเป็นครั้งแรกในปี 2015 ในหลุมน้ำที่เชื่อกันว่าถูกใช้โดยคนจากยุคเหล็กและชุมชนโรมัน ซึ่งแม้ว่านักโบราณคดีจะไม่ทราบว่าทำไมโล่ชิ้นนี้จึงตกลงมาอยู่ในหลุมได้ แต่พวกเขาก็คาดกันว่าโล่ดังกล่าวน่าจะถูกโยนทิ้งหลังจากถูกใช้งานในพิธีกรรม หรือไม่ก็ในการต่อสู้มาก่อน

 

 

และเมื่อมีการนำโล่ชิ้นนี้ไปตรวจสอบหาอายุด้วยคาร์บอนกัมมันตรังสี นักโบราณคดีก็พบว่าโล่ดังกล่าวน่าจะถูกทำขึ้นในช่วงเวลาตั้งแต่เมื่อ 395-255 ปีก่อนคริสตกาล และทำจากเปลือกไม้แอลเดอร์ วิลโลว์ พอปลาร์ ฮาเซล หรือไม่ก็ไม้สปินเดิล

แต่แม้ว่าโล่ดังกล่าวจะทำจากเปลือกไม้ก็ตาม โล่เหล่านี้ตามปกติก็มีความสามารถมากพอที่จะป้องกันการแทงของดาบและลูกธนูได้เป็นอย่างดี อ้างอิงจากการทดลองเมื่อปีที่แล้ว ทำให้แม้ว่าโล่เหล่านี้อาจจะไม่แข็งแกร่งเท่าโล่ที่ทำจากเหล็ก หรือเนื้อไม้ก็ตาม แต่มันก็ได้เปรียบในด้านน้ำหนักของโล่ และสามารถใช้งานได้ในระดับหนึ่งเช่นกัน

 

 

อ้างอิงจากนักโบราณคดี โล่ที่พบนี้มีร่องรอยความเสียหายอยู่ค่อนข้างมาก และมีน่าจะเคยถูกใช้งานเป็นเวลาไม่น้อยว่า 10 ปีก่อนที่มันจะถูกนำมาทิ้งไว้ในหลุม ดังนั้นเหล่านักวิจัยจึงตั้งเป้าว่าจะหาที่มาของความเสียหายบนโล่ต่อไป

และแน่นอนว่าโล่ที่มีจุดเด่นเรื่องการทำจากเปลือกไม้ที่หาได้ง่ายเช่นนี้ ย่อมน่าจะมีการใช้งานเป็นจำนวนมากในสมัยก่อน ดังนั้นแม้ว่าโล่แบบนี้จะผุพังตามกาลเวลาได้ง่าย แต่เราก็อาจจะยังสามารถเห็นโล่ในรูปแบบนี้ถูกค้นพบอีกครั้งในในอนาคตอันใกล้นี้ก็เป็นได้

 

พื้นที่ที่มีการค้นพบโล่เปลือกไม้ชิ้นนี้

 

ที่มา livescience, ancient-origins

Comments

Leave a Reply