Brexit คืออะไร!? ทำไมนายกอังกฤษต้องลาออก สรุปให้คุณเข้าใจในบทความเดียว

วันที่ 24 พฤษภาคม 2019 ที่ผ่านมา นาง Theresa May นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง

โดยการลาออกครั้งนี้ มีเหตุผลเกี่ยวเนื่องกับการพยายามแยกตัวของอังกฤษออกจากยุโรป หรือที่เรียกกันติดปากว่า Brexit นั่นเอง

ทำไมเรื่องนี้มันจึงส่งผลกระทบถึงตำแหน่งผู้นำระดับชาติ!? Brexit แท้จริงแล้วคืออะไร?? แล้วทำไม Theresa May ต้องลาออก!?

ผู้อ่านปูเสื่อนั่งลงได้เลยครับ แคทดั๊มบ์จะสรุปให้อ่านดังนี้….

 

การแถลงลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ของ Theresa May ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2019

 

จุดเริ่มต้นของการโหวต Brexit

Brexit นั้นย่อมาจาก British กับ Exit หมายถึงการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (ทั้งอังกฤษ ไอร์แลนด์เหนือ สกอตแลนด์ และเวลส์)

ประเด็นนี้เริ่มจากที่นาย David Cameron จากพรรคอนุรักษนิยมได้นำเรื่อง Brexit มาเป็นนโยบายในการหาเสียง หากชนะเลือกตั้งจะนำมาให้ประชาชนโหวต และจะทำการเจรจากับสหภาพยุโรป เพื่อขอต่อรองในสิ่งที่จะทำให้สหราชอาณาจักรได้มากกว่าประเทศอื่น

ซึ่งนโยบายนี้ก็ทำให้เขาก็ชนะเลือกตั้งจริงๆ

 

David Cameron

 

แต่การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปนี้ ก็มีทั้งฝ่ายหนุนและฝ่ายค้าน แม้แต่คนภายในรัฐบาลเองก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถึงขั้นที่บางคนขึ้นมาเป็นแกนนำคัดค้าน Brexit อีกต่างหาก (สามารถคัดค้านนโยบายได้แม้จะตนเองจะเป็นรัฐบาล เนื่องจากไม่มีกฎหมายห้าม)

ในปี 2016 สหราชอาณาจักรจึงทำการจัดทำประชามติขึ้นมา ผลปรากฏว่าฝั่งที่ต้องการถอนตัวชนะผลโหวตไป 51.9% จากฝั่งที่โหวตให้อยู่ต่อ 48.1%

 

https://www.bbc.com/news/politics/eu_referendum/results

 

แผนการถอนตัวของสหราชอาณาจักรจึงเริ่มต้นขึ้น…

ทว่าเมื่อผลการโหวตที่ออกมาชัดเจน ส่วนตัวของนาย David Cameron เองนั้นต้องการจะให้สหราชอาณาจักรอยู่กับสหภาพยุโรปต่อ

แต่ผลโหวตให้ออกเป็นเสียงข้างมาก จึงทำให้เขาต้องลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 53 แห่งสหราชอาณาจักร

และได้ Theresa May ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 54 ถัดมาภายในทันที เพื่อดำเนินการเจรจากับทางสหภาพยุโรปต่อไป

 

ประเด็นการโหวตนี้มีเสียงใกล้เคียงกันมาก มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แยกออกเป็นสองฝั่ง เพราะมันละเอียดอ่อน และมีความเกี่ยวข้องทางด้านการเมือง ระบบเศรษฐกิจ กฎหมาย และข้อตกลงร่วมต่างๆ กับกลุ่มประเทศสมาชิก

 

https://www.irishtimes.com/news/world/brexit/results

 

เหตุผลของฝั่งที่อยากให้ออก

ส่วนใหญ่เป็นเหตุผลด้านการเมือง โดยมองว่าการอยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรปมีโทษมากกว่าประโยชน์ ทั้งประเด็นอธิปไตย การออกกฎหมาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกรณีผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยสงคราม หลายคนกลัวว่าจะทำให้เกิดอาชญากรรมพุ่งสูง เกิดการแย่งงาน

รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ จากสหภาพยุโรป ทำให้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรถดถอย ไหนจะต้องเสียงบการคลังไปเปล่าๆ อีก (งบที่จะต้องนำไปช่วยเหลือกลุ่มประเทศยุโรป)

หลายคนเชื่อว่าต้นทุนการออกจากสหภาพยุโรปไม่น่าจะมาก เจรจากันได้

และเชื่อว่ายุโรปก็ต้องพึ่งพาสหราชอาณาจักรเหมือนกัน จึงต้องเป็นฝ่ายง้อให้อยู่ต่อ หรือประนีประนอมให้ออกได้แบบเจ็บตัวน้อยที่สุด

 

เหตุผลของฝั่งที่อยากให้อยู่ต่อ

ฝ่ายที่อยากให้อยู่ต่อนั้น มีความกังวลในเรื่องของต้นทุนเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นหลังออกจากสหภาพยุโรปจะสูงมาก มีความเสี่ยงและไม่แน่นอน จนอาจร้ายแรงกระทบต่อการลงทุน ถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจถูกแช่แข็งไว้เลย

เนื่องจากไม่เคยมีประเทศไหนออกจากกลุ่มสหภาพยุโรปเลย และไม่รู้ว่าหลังจากออกแล้วจะเป็นอย่างไร

เพราะที่ผ่านมาสหราชอาณาจักรเป็นทั้งศูนย์การค้าและการลงทุนของยุโรป ได้ประโยชน์จากการที่ไม่มีกำแพงภาษีกับประเทศสมาชิก

โดยการค้าขายกับยุโรปนับเป็น 60% ของระบบเศรษฐกิจในประเทศ

แต่ถ้าออกไปแล้ว ก็มีคำถามตามมามากมาย

ภาษีนำเข้าจะต้องตามมา เสียสิทธิ์เป็นเขตการค้าเสรี แต่ถ้าไม่มีสิทธิ์นี้ จะต้องแลกด้วยอะไร!?

และหากจะทำการค้ากับกลุ่มประเทศยุโรปเหมือนเดิม จะต้องไปคุยทีละประเทศอีกครั้งหรือไม่!?

แล้วในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้จะทำอย่างไร!? ในเมื่อค้าขายกับประเทศยุโรปไม่ได้

กระทบมาถึงสถาบันการเงินของสหราชอาณาจักรที่เป็นศูนย์กลางและดูแลโดยสหภาพยุโรป หากออกไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น!? ถ้าสหภาพยุโรปไม่ให้การรับรองและไม่ดูแลเหมือนแต่ก่อน

อีกทั้ง ท่าทีของไอร์แลนด์เหนือกับสกอตแลนด์ก็อยากจะแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรมานาน เมื่ออยากจะออกจากสหภาพยุโรป หรือกระทั่งออกมาสำเร็จ

สองดินแดนที่กล่าวมาก็อาจจะอยากแยกตัวออกไปอีก ทำให้สหราชอาณาจักรถูกแยกตัวย่อยกันออกไปอีก

 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากประชามติ

การเจรจาเริ่มขึ้นหลังจากที่ Theresa May ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ซึ่งจะต้องเข้าพบกับตัวแทนจากกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ในการทำข้อตกลงถอนตัวออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (Withdrawal Agreement)

มีใจความสำคัญหลักๆ ก็คือ…

– สหราชอาณาจักรจะต้องจ่ายต้นทุนเท่าไหร่ สำหรับการถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งตีเป็นเงินคร่าวๆ ได้ประมาณ 39,000 ล้านปอนด์ หรือราวๆ 1.5 ล้านล้านบาท

– สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา จะกระทบกับชาวสหราชอาณาจักรที่อาศัยอยู่ในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป และชาวยุโรปที่เป็นกลุ่มประเทศสมาชิกที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร ก็จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

– เรื่องของการส่งคืนพรมแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ เนื่องจากหากถอนตัวออกไปแล้ว ก็จะกลายมาเป็นพรมแดนระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปในทันทีเมื่อ Brexit เกิดขึ้น

ในช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงที่เรียกว่า ‘ช่วงเปลี่ยนผ่าน’ เพื่อให้เวลาระหว่าง สหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปทำการเจรจาข้อตกลงทางการค้า ข้อกฎหมาย อำนาจทางการเมือง และข้อตกลงต่างๆ ร่วมกัน

ก่อนที่จะนำข้อตกลงนี้กลับไปพิจารณาภายในสภาของสหราชอาณาจักร

 

 

วันที่ 6 กรกฎาคม 2018 รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ออกแถลงการณ์ว่าข้อตกลงต่างๆ จะเรียบร้อยภายในเดือนพฤศจิกายน 2018

และสหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรปในวันที่ 29 มีนาคม 2019

แต่ทว่าปัญหากลับเกิดขึ้นจากภายในรัฐสภาของสหราชอาณาจักรเอง

แม้ว่ารัฐบาลพยายามเสนอและปรับเปลี่ยนข้อตกลงถอนตัว (Brexit) ต่อสภามากถึง 3 ครั้ง แต่ก็ถูกคัดค้านตีตกทั้งหมด 3 หน แม้จะได้รับการรับรองข้อกฎหมายต่างๆ จากทางสหภาพยุโรปแล้วก็ตาม

ครั้งแรกวันที่ 15 มกราคม 2019 สภามีมติคัดค้าน 432 เสียงต่อ 202 เสียง

ครั้งที่ 2 วันที่ 12 มีนาคม 2019 ยื่นข้อกำหนดที่มีการปรับเปลี่ยนใหม่ไปให้พิจารณา ก็ยังโดนปัดตก

ครั้งที่ 3 วันที่ 29 มีนาคม 2019 เป็นวันที่สหราชอาณาจักรจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (ตามแผนเก่า) แต่ก็ยังถูกสภาปัดตกเหมือนเดิม

 

 

เปลี่ยนกำหนดวันถอนตัวใหม่ เป็นวันที่ 31 ตุลาคม

หลังจากที่ภายในสภาสหราชอาณาจักรไม่รับรองข้อกำหนดการถอนตัวของรัฐบาลนาง Theresa May ถึง 3 ครั้ง 3 หน

จึงทำให้นายกรัฐมนตรีต้องไปเจรจาต่อรองกับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เพื่อขอเลื่อนเวลาการถอนตัวออกไป

สหภาพยุโรปจึงตอบกลับมาว่าให้ไปเคลียร์กันให้เสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2019

ซึ่งถ้าหากสภารับรองให้ไฟเขียวได้เร็วกว่าวันที่กำหนด สหราชอาณาจักรสามารถประกาศ Brexit ได้ทันที แต่อย่างที่ทุกท่านทราบกัน จนถึงตอนนี้ (25 พฤษภาคม 2019) ก็ยังไม่มีไฟเขียว

 

 

ความล้มเหลวของ Theresa May

Theresa May ถูกกดดันจากหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายสนับสนุน Brexit และกระทั่งฝ่ายรัฐบาลของตัวเอง

เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนข้อตกลงเพื่อเอาใจพรรคฝ่ายค้านมากเกินไป ซึ่งทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมที่สนับสนุน Brexit รู้สึกไม่พอใจอย่างมาก

หลายฝ่ายเริ่มคัดค้านข้อตกลงที่เสนอเข้าสภา สมาชิกพรรคอนุรักษนิยมเริ่มเรียกร้องให้เธอลาออกจากตำแหน่ง

หนึ่งในสมาชิกพรรคอาวุโส ลาออกจากคณะรัฐมนตรี ก็ยิ่งเพิ่มความกดดันให้เธอมากขึ้น

จนในที่สุดแล้ว Theresa May ได้ออกมาประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยแถลงใจความสำคัญในเรื่องของความล้มเหลวในการผลักดัน Brexit และยอมเปิดทางให้กับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ มาทำหน้าที่นี้ต่อไป

 

 

นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเป็นใคร?? จะทำหน้าที่สานต่อ Brexit ได้ตามที่คิดไว้หรือไม่??

อนาคตของสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป จะยังคงอยู่ด้วยกัน หรือได้แยกจากกันจริงๆ คงเป็นเรื่องที่เราต้องติดตามกันต่อไปครับ

 

ขอบคุณผู้อ่านที่อ่านมาจนจบ หวังว่าจะบทความนี้จะช่วยให้ทุกท่านได้กระจ่างในเรื่องของ Brexit ได้ดีขึ้นไม่มากก็น้อย

หากถูกใจบทความ อย่าลืมกดติดตามเพจ  รวมถึงตั้งค่า See First ไม่ให้พลาดเนื้อหาใหม่ๆ จากทางเรานะครับ

 

ที่มา: bbc(1), bbc(2), vox, politico.eu


Tags:

Comments

Leave a Reply