ตัวอย่างความเปลี่ยนแปลง 11 ประเทศ ที่เริ่มรณรงค์ “รักษ์สิ่งแวดล้อม” อย่างจริงจัง

ผลกระทบรุนแรงภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศ รวมถึงมลพิษต่างๆ ในปัจจุบัน ทำให้คนทั่วโลกหันมารณรงค์รักสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น เช่น การปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดการใช้พลาสติก รวมถึงการเปลี่ยนมาใช้จักรยานหรือรถไฟฟ้าแทนรถยนต์

ทางเว็บไซต์ BrightSide รายงานความเปลี่ยนแปลงใน 11 ประเทศ ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับประเทศอื่นๆ ในการดูแลโลกให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

 

1. กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์

เมื่อต้นปี 2019 กรุงออสโลว์ ประเทศนอร์เวย์ ได้เปลี่ยนลานจอดรถยนต์กว่า 700 แห่งให้เป็นจุดจอดจักรยาน กระตุ้นให้คนหันมาใช้ยานพาหนะที่มิตรกับโลก และการลดที่จอดรถยนต์ ยังเป็นการกระตุ้นทางอ้อมให้คนขับรถเข้าเมืองน้อยลง

นอกจากจะเอาใจคนใช้จักรยานแล้ว ยังรณรงค์ให้คนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ด้วยการเพิ่มจุดชาร์จรถไฟฟ้าขึ้นจำนวนมากอีกด้วย

 

2. กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา

จากเดิมที่ถนนสายใหญ่ในใจกลางกรุงบัวโนสไอเรส เคยมีเลนให้รถวิ่งถึง 20 เลน ปัจจุบันได้เปลี่ยนเลนสำหรับรถสาธารณะ เลนจักรยานสีสันสดใส และทางเดิน เพิ่มความปลอดภัยในการใช้ยานพาหนะสองล้อ และการเดินเท้ามากขึ้น

โดยรัฐบาลได้ใช้วิธีการที่เรียกว่า Tactical Urbanism ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งในการพัฒนาชุมชน เปลี่ยนทางเท้าให้น่าเดินยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการปรับปรุงที่ไม่ต้องใช้ทุนมากและมีประสิทธิภาพ

 

3. กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ในปี 2003 รัฐบาลลอนดอนได้เก็บค่าธรรมเนียมรถในเข้าสู่ใจกลางเมืองในช่วงเวลาเร่งด่วน

หลังจากนั้นในปี 2010 พวกเขาเริ่มเปิดทางหลวงสายแรกสำหรับจักรยานในเส้นทางที่การจราจรหนาแน่นที่สุด เพื่อกระตุ้นให้คนหันมาใช้จักรยาน ลดมลพิษในอากาศ ลดเสียงเครื่องยนต์รบกวน

จนกระทั่งในปี 2019 แผนงานที่พวกเขาวางไว้ในตอนแรกก็สมบูรณ์ไปขั้นหนึ่ง ซึ่งมันจะส่งผลให้คุณภาพอากาศ และเสียงรบกวนนั้นลดลงไปอย่างเห็นผล

รัฐบาลยังมีแผนงานพิเศษในอนาคต ที่ตั้งเป้าว่าถนนครึ่งหนึ่งภายในเมือง จะกลายเป็น “ถนนคนเดิน” ซึ่งปลอดรถยนต์ส่วนตัว และรถสาธารณะด้วยความเร็ววิ่งไม่เกิน 24 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 

 

https://www.instagram.com/p/BwRNfS9H4AI/?utm_source=ig_embed

 

4. กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

เมื่อปี 2017 กรุงโซลได้เริ่มเปลี่ยนทางเดินรถแห่งหนึ่งให้เป็นทางเดินคน ซึ่งปัจจุบันได้มีคนกว่า 10 ล้านคนสัญจรผ่านไปมาในถนนเส้นนี้ กระตุ้นการเติบโตของธุรกิจกว่า 42%

นอกจากนั้นทางการประเทศเกาหลีใต้เตรียมวางแผนที่จะใช้รถบัสไฟฟ้า 3,000 คันภายในปี 2025 เพื่อกระตุ้นให้คนหันมาใช้บริการรถสาธารณะ ส่งผลถึงการประหยัดพลังงานและลดมลพิษในอากาศ

 

5. กรุงมาดริด ประเทศสเปน

เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา ในกรุงมาดริด ได้มีการออกกฎหมายจำกัดการขับขี่บนท้องถนน ซึ่งทำให้การจราจรบนถนนลดไปถึง  32% อย่างรวดเร็ว

ซึ่งในอนาคตรัฐบาลมีแผนที่จะทำให้คุณภาพอากาศภายในเมืองดียิ่งขึ้น จึงเตรียมแผนงานให้ประชาชนใช้รถไฟฟ้าในการเดินทางเขตใจกลางเมืองเท่านั้น

 

6. กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีนได้มีการจำกัดการใช้รถที่สร้างมลพิษ ซึ่งอนุญาตให้ขับในบางเวลา และต้องมีใบอนุญาตเท่านั้น

นอกจากนั้นรัฐบาลยังได้วางแผนออกนโยบายให้คนขับรถในวันที่กำหนดเท่านั้น หรือห้ามไม่ให้ใช้รถส่วนตัว เว้นเสียแต่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า ที่ผ่อนปรนเป็นพิเศษ เพื่อกระตุ้นให้คนหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้านั่นเอง

 

7. กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เริ่มเอาจริงเอาจังในการรักษ์สิ่งแวดล้อม อย่างแรกคือพวกเขาเปลี่ยนถนนริมแม่น้ำ Seine ให้กลายเป็นที่จอดรถและถนนคนเดิน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแผนลดการใช้รถพลังงานเชื้อเพลิง ด้วยการแบนรถยนต์น้ำมันดีเซลภายในปี 2024

และตั้งเป้าว่ารถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งดีเซลและเบนซิน จะหมดไปภายในปี 2030 นั่นหมายถึงว่าจะกลายเป็นยุคของรถยนต์ไฟฟ้าอย่างแท้จริง

https://www.instagram.com/p/BwRPWmdl3Ua/?utm_source=ig_embed

 

8. ประเทศอินเดีย

อย่างที่รู้ดีว่าในประเทศอินเดียมีการจราจรหนาแน่น เต็มไปด้วยรถยนต์และรถลาก

ทางรัฐบาลจึงวางแผนที่จะเปลี่ยนถนนสายหลักอันวุ่นวายใจกลางเมือง Chennai ให้กลายมาเป็นถนนคนเดินเท่านั้น โดยตั้งเป้าว่าแผนงานนี้ต้องเสร็จในปี 2019

ขณะที่แผนงานในอนาคต รัฐบาลอินเดียหวังว่าภายในปี 2030 รถยนต์เชื้อเพลิงจะหมดไป กลายเป็นประเทศที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งประเทศได้ในที่สุด

 

9. กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

ปัจจุบัน ประชาชนในเดนมาร์กกว่า 50% เดินทางด้วยจักรยาน ซึ่งทางรัฐบาลมีแผนที่จะสร้างทางเดินและทางจักรยานเพิ่มในอนาคต เพื่อเป็นการลดมลพิษในอากาศ

นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้วางแผนที่จะทำให้กรุงโคเปนเฮเกนเป็นเขตปลอดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ (Carbon-neutral) ภายในปี 2025 อีกด้วย

https://www.instagram.com/p/BwM97MgB9e0/?utm_source=ig_embed

 

10. กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

ในปี 2017 กรมสิ่งแวดล้อมฯ ของกรุงเบอร์ลินได้ทำการศึกษา ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนทางหลวงรถยนต์ มาเป็นทางหลวงสำหรับจักรยาน 12 แห่ง เพื่อสร้างความปลอดภัยของคนใช้จักรยาน และกระตุ้นให้ประชาชนหันมาเดินทางด้วยจักรยานมากขึ้น

ในอนาคตประเทศเยอรมนีได้มีการสร้างทางจักรยานครอบคลุมทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะมีผู้ใช้จักรยานมากขึ้นถึง 2.4 ล้านคนภายในปี 2025

 

11. ประเทศจอร์เจีย

เมื่อเดือนเมษายน 2019 รัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมและกระทรวงเกษตรกรรม ได้ออกกฎยกเลิกการผลิต นำเข้า หรือใช้งานถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งภายในประเทศ และเปลี่ยนมาใช้ถุงที่ย่อยสลายได้แทน

หากใครฝ่าฝืนกฎในครั้งแรกจะต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน 185 เหรียญสหรัฐ (ราว 6,000 บาท)

และถ้ายังฝ่าฝืนอีกในครั้งต่อไปต้องเสียค่าปรับ 370 เหรียญสหรัฐ (ราว 12,000 บาท) ถือเป็นค่าปรับที่หนักไม่น้อยเลย

 

นับเป็นการเคลื่อนไหวในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ทำให้เป็นว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ ถ้าหากร่วมมือกัน

 

ที่มา: brightside


Tags:

Comments

Leave a Reply