นักโบราณคดีพบ “ทุ่งไหหิน” กลุ่มใหม่ในลาว พร้อมวัตถุโบราณจำนวนมาก จากยุคเหล็ก

เชื่อว่าเพื่อนๆ อาจจะเคยได้ยินเรื่องราวของ  “Plain of Jars” หรือ “ทุ่งไหหิน” กันมาบ้าง  มันเป็นแหล่งโบราณคดีสุดลึกลับแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งตั้งอยู่ที่เชียงขวาง แขวงทางเหนือของประเทศลาวเพื่อนบ้านของเรา

(อ่านเรื่องราวของแหล่งโบราณคดีนี้ ได้ที่ ชม “ทุ่งไหหิน” แหล่งโบราณคดีไหหินทรายของลาว ที่ยังไม่ทราบว่าสร้างขึ้นเพื่ออะไร)

 

ทุ่งไหหินหมายเลข 1 แหล่งโบราณสถานที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดของทุ่งไหหิน

 

ทุ่งไหหินเดิมทีแล้วถูกบันทึกไว้ว่ามีการค้นพบในปี ค.ศ. 1930 มีลักษณะเด่นอยู่ที่หินรูปร่างคล้ายไหหลายร้อยอันในพื้นที่ใกล้เคียงกัน 3 แห่ง และที่ผ่านๆ มายังไม่มีใครพบหลักฐานยืนยันเลยว่าที่แห่งนี้สร้างขึ้นมาได้อย่างไร หรือสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร

แต่ในขณะที่เรื่องราวของทุ่งไหหินยังคงเป็นปริศนาอยู่นั้น เมื่อล่าสุดนี้เอง เหล่านักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียก็ได้ทำการค้นพบแหล่งโบราณคดีแห่งใหม่ร่วม 15 แห่ง ซึ่งทำให้ทุ่งไหหินมี หินรูปร่างคล้ายไหเพิ่มขึ้นมาจากเดิมอีกถึง 137 ชิ้น

 

 

อ้างอิงจากข้อมูลของทีมวิจัย หินรูปไหที่ถูกพบในครั้งนี้มีอายุราวๆ 1,000-1,500 ปี และเป็นหลักฐานอย่างดีที่ว่า ในสมัยก่อนคนในพื้นที่น่าจะมีการใช้งานไหหินเล่านี้อย่างกว้างขวางกว่าที่เราเคยคาดการไว้

โดยนอกจากตัวไหหินแล้ว ทีมนักโบราณคดียังมีการค้นพบโบราณวัตถุจากยุคเหล็กอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยเครื่องเซรามิกสำหรับตกแต่ง งานดินเหนียวที่มีรูปร่างคล้ายไหในทุ่ง ลูกปัดแก้ว เครื่องมือเหล็ก จานสำหรับใส่หู และแกนหมุนสำหรับทอผ้า

เท่านั้นยังไม่พอเพราะในพื้นที่ใกล้เคียงกับตัวไห นักโบราณคดียังพบแผ่นแกะสลักรูปร่างคล้ายจานหนาๆ ขนาดใหญ่อีกชิ้นด้วย ซึ่งเจ้าจานที่ว่านี้ในเบื้องต้นถูกสันนิษฐานว่าเป็นป้ายของที่ฝังศพ แม้ว่าในตอนที่พบมันจะอยู่ในสภาพคว่ำหน้าลงมานานก็ตาม

 

 

นี่นับว่าเป็นหนึ่งในการค้นพบที่น่าสนใจของทุ่งไหหินสุดลึกลับเลยก็ว่าได้ และทีมนักโบราณคดีเองก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งที่พวกเขาค้นพบนั้น จะมีประโยชน์ต่อการไขปริศนาความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้ต่อไปในอนาคต

 

ที่มา sciencealert และ ancient-origins

Comments

Leave a Reply