นักวิทย์อังกฤษสร้างสิ่งมีชีวิตจาก DNA สังเคราะห์ได้สำเร็จ โดยใช้แบคทีเรียเป็นต้นแบบ

การสร้างสิ่งมีชีวิตสังเคราะห์ขึ้นมา สำหรับมนุษย์แล้วเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และนำมาซึ่งความเห็นที่แตกต่างกันมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามมันก็เป็นความฝันที่นักวิทยาศาสตร์หลายๆ คนพยายามที่จะทำให้มันกลายเป็นจริงอยู่ดี

และแล้วเมื่อล่าสุดนี้เอง ดูเหมือนว่าเหล่านักวิทยาศาสตร์ของอังกฤษ จะเข้าใกล้การสร้างสิ่งมีชีวิตสังเคราะห์ขึ้นไปอีกก้าวแล้วก็เป็นได้ เพราะพวกเขาได้ออกมาเปิดเผยว่าพวกเขาสามารถสร้างสิ่งมีชีวิตระดับแบคทีเรียจาก DNA สังเคราะห์ได้สำเร็จแล้วนั่นเอง

 

 

สิ่งมีชีวิตตัวใหม่นี้ถูกเรียกด้วยชื่อว่า “Syn61” แบคทีเรียสังเคราะห์ ที่ถูกสร้างขึ้นโดยใช้ E. coli (Escherichia coli) แบคทีเรียที่พบได้บ่อยๆ ในสัตว์และอาหารเป็นต้นแบบ

เหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์เลือกใช้ E. coli เป็นต้นแบบของ Syn61 นั้นถูกอธิบายโดยนักวิทยาศาสตร์ไว้ว่ามีเหตุผลมาจากการที่แบคทีเรียตัวนี้มีความสามารถในการเอาชีวิตรอดได้สูง แม้ว่าจะมีรหัสพันธุกรรมที่ต่ำ

 

ภาพของแบคทีเรีย E. coli

 

แต่แม้จะบอกว่ามีรหัสพันธุกรรมของต้นแบบที่ต่ำ อ้างอิงจากเหล่านักวิจัย Syn61 นั้นถูกสร้างขึ้นโดยอาศัยรหัสพันธุกรรมถึงกว่า 4 ล้านตัว ทำให้ Syn61 นับว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจีโนมสังเคราะห์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้างมา

โดยเจ้าแบคทีเรียเทียมตัวนี้จะมีความแข็งแรงต่ำกว่า E. coli ซึ่งเป็นต้นแบบ เติบโตช้ากว่าราวๆ 60% และเมื่อเทียบกันแล้วมีขนาดตัวที่ยาวกว่าต้นแบบเล็กน้อย ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นผลพวงมาจากการปรับปรุงพันธุกรรมกว่า 18,000 ครั้ง

 

 

นี่นับเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของเหล่านักวิทยาศาสตร์เลยก็ว่าได้ เพราะการตัดต่อพันธุกรรมจำนวนมากๆ เช่นนี้ หากเกิดความผิดพลาดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ผลลัพธ์ที่ออกมาก็อาจจะเลวร้ายแบบสุดๆ ได้ไม่ยากเลย

ส่วนสำหรับคนที่เห็นการทดลองนี้แล้วรู้สึกกังวลคุณ Jason Chin หัวหน้าทีมวิจัยก็บอกว่าขอให้สบายใจได้ เพราะการทดลองครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการหารือเป็นอย่างดีว่าอะไรที่ทำได้และอะไรที่ไม่ควรทำโดยเหล่านักวิทยาศาสตร์แล้ว และเป็นการทดลองที่มีการควบคุมดูแลเป็นอย่างดีนั่นเอง

 

ที่มา bbc, allthatsinteresting

Comments

Leave a Reply