นักวิจัยพบ ภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงอาจทำให้สัตว์ทะเลตาบอดได้ เพราะออกซิเจนในน้ำลดลง

ผลกระทบจากภาวะอากาศโลกเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโลกนั้น ในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ผู้คนหลายๆ ฝ่ายเป็นกังวลกันเป็นอย่างมาก เพราะตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา เราก็มีงานวิจัยมากมายที่ออกมาบอกว่าภาวะอากาศโลกเปลี่ยนแปลงมีอันตรายกับสิ่งมีชีวิตหลายๆ ชนิดมากมายขนาดไหน

และแล้วเมื่อล่าสุดนี้เอง งานวิจัยชิ้นใหม่ล่าสุดที่มีการตีพิมพ์แบบออนไลน์ในวารสาร Journal of Experimental Biology ไปเมื่อวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 2019 ก็ได้ออกมาเปิดเผยการค้นพบที่ว่า ในปัจจุบันมีสัตว์ทะเลบางชนิดที่อาจจะตาบอดได้ หากสภาพแวดล้อมยังคงมีการเปลี่ยนแปลงแบบในปัจจุบัน

 

 

นั่นเพราะภายในงานวิจัยชิ้นนี้ ทีมนักวิจัยได้ทำการค้นพบว่าปริมาณ “ออกซิเจน” ในน้ำมีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของจอประสาทตาของสัตว์น้ำ (อย่างน้อยๆ ก็สี่ชนิดที่ใช้ในการทดลอง) มากกว่าที่เราคิด

อ้างอิงจากข้อมูลที่เปิดเผยออกมา งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการทดลองนำตัวอ่อนสัตว์น้ำ 4 ชนิด ซึ่งประกอบไปด้วย หมึกกระดอง Doryteuthis opalescens หมึกสาย Octopus bimaculatus ปู Pleuroncodes planipes และปู Metacarcinus gracilis ไปทดลองการตอบสนองต่อภาวะออกซิเจนต่ำเป็นเวลา 30 นาที

 

 

พวกเขาพบว่าตัวอ่อนของสัตว์ทั้ง 4 ชนิดนี้ แม้ว่าจะมีระดับความแตกต่างของระดับผลกระทบอยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้วเมื่อออกซิเจนในน้ำต่ำลงพวกมันก็จะมีความสามารถในการมองเห็นที่ต่ำลงไปด้วย โดยเฉพาะตัวอ่อนของสัตว์น้ำอย่างหมึกกระดอง D. opalescens และปู M. gracilis ซึ่งอาจถึงขั้นตาบอดได้แม้ออกซิเจนในน้ำลดลงเพียงเล็กน้อย

ผลการทดลองที่ออกมานี้สร้างความไม่สบายใจให้แก่ทีมนักวิจัยมาก เพราะภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันนั้นมีโอกาสผลกระทบโดยตรงกับปริมาณออกซิเจนในน้ำได้ และแน่นอนว่าอาจนำไปสู่ การที่สัตว์ในน้ำจำนวนมากสูญเสียการมองเห็นไป

 

 

นับว่าโชคดีมากที่ภายในการทดลอง เมื่อนักวิจัยปรับปริมาณออกซิเจนในน้ำกลับมาเป็นปกติ สภาพดวงตาของสัตว์น้ำก็กลับมาทำงานในระดับที่ดีอีกครั้งไปด้วย

อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถบอกได้เลยว่าหากออกซิเจนในทะเลลดลงจริงๆ สัตว์เหล่านี้จะสามารถฟื้นตัวได้เหมือนในการทดลองหรือไม่ เนื่องจากคงเป็นไปได้ยากที่ออกซิเจนในทะเลธรรมชาติจะกลับมาเป็นปกติได้เหมือนในการทดลองนั่นเอง

 

ที่มา livescience, newscientist

Comments

Leave a Reply