นักวิจัยพบต้นไม้เก่าแก่อายุกว่า 2,624 ปีที่สหรัฐ หวั่นโลกร้อนอาจทำให้ต้นไม้ตายในอนาคต

ย้อนกลับไปในปี 1985 คุณ David Stahle นักกาลานุกรมต้นไม้ นักธรณีวิทยา ศาสตราจารย์ และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอาร์คันซอ ได้เดินทางเข้าไปทำการสำรวจพื้นที่อนุรักษ์ Black River บึงขนาดใหญ่ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา

ที่นั่นเขาได้พบกับต้นไม้หลายต้น ที่ทั้งใหญ่และดูเก่าแก่เอามากๆ จนเขาคิดว่าต้นไม้เหล่านี้ อาจจะมีชีวิตอยู่บนโลกมาเป็นเวลาร่วมพันปีแล้วก็ได้

 

คุณ David Stahle (คนที่สวมหมวกสีฟ้าด้านหลัง)

 

แต่แล้วเมื่อล่าสุดนี้เอง คุณ David ก็ได้ออกมาเปิดเผยในงานวิจัยของเขาว่า หนึ่งในต้นไม้ที่เขาพบในบึงที่นอร์ทแคโรไลนานั้น แท้จริงแล้วมีอายุมากถึง 2,624 ปีเลย

อ้างอิงจากข้อมูลในงานวิจัย คุณ David พบความจริงเรื่องนี้ในปี 2017 ในขณะที่เขา ศึกษาวงปีของต้นไม้ในพื้นที่อนุรักษ์ โดยต้นไม้ที่ถูกพบว่ามีอายุ 2,624 ปีนั้น เป็นต้นบัลด์ไซปรัส (Bald cypress) ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Taxodium distichum”

 

 

การค้นพบในครั้งนี้ทำให้ต้นบัลด์ไซปรัสที่ถูกพบในนอร์ทแคโรไลนาต้นนี้ กลายเป็นต้นไม้ที่มีความเก่าแก่มากที่สุดต้นหนึ่งของโลกไปโดยปริยาย แถมการศึกษาวงปีของต้นไม้ที่เก่าแก่ขนาดนี้ ยังอาจนำไปสู่ความรู้โดยละเอียดของภูมิอากาศในอดีตได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

เท่านั้นยังไม่พอเพราะทีมนักวิจัยที่ลงสำรวจพื้นที่นั้นได้ทำจากเก็บตัวอย่างต้นไม้จากต้นบัลด์ไซปรัสมาเพียงแค่ 110 ต้นเท่านั้น ในขณะที่ในบึงยังมีต้นไม้ที่มีความเก่าแก่สูงอีกมากกว่า 10,000 ต้น ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าเราอาจจะพบกับต้นไม้ที่มีอายุเก่าแก่ยิ่งกว่านี้ ซ่อนอยู่ในพื้นที่อีกก็เป็นได้

 

 

ถึงอย่างนั้นก็ตามการวิจัยในครั้งนี้ก็ไม่ได้นำมาซึ่งข่าวดีเท่านั้น เพราะจากการตรวจสอบพื้นที่ทีมนักวิจัยก็พบว่าพื้นที่บึง Black River ในปัจจุบันอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 2 เมตรเท่านั้น

นั่นทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงมากที่จะถูกน้ำทะเลทะลักเข้าท่วมในอนาคต จากการที่สภาวะโลกร้อนและความเปลี่ยนแปลงของอากาศทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงต้นบัลด์ไซปรัสเหล่านี้ก็คงจะไม่สามารถเติบโตในพื้นที่ได้อีกต่อไปเป็นแน่

 

 

อนึ่ง งานวิจัยชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในวารสาร Environmental Research Communications เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา ซึ่งหากเพื่อนๆ สนใจอยากอ่านข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อนๆ ก็สามารถเข้าไปอ่านงานวิจัยได้โดยตรง ที่นี่

 

ที่มา livescience, iopscience, allthatsinteresting และ dailymail

Comments

Leave a Reply