นักวิทย์ตามหาที่มาของ “ลูกบาศก์ยูเรเนียม” หลังมีลูกบาศก์ลึกลับส่งมาหาในปี 2013

ย้อนกลับไปในปี 2013 คุณ Timothy Koeth นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา ได้รับพัสดุ แปลกๆ ที่มีรูปร่างคล้ายลูกบาศก์ พร้อมข้อความที่ว่า “ของขวัญจาก Ninninger ได้มาจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ฮิตเลอร์พยายามสร้าง ในประเทศเยอรมนี”

 

 

แม้ข้อความที่มากับพัสดุจะเป็นอะไรที่อ่านแล้วชวนเกาหัวอยู่บ้าง (อนึ่ง Ninninger ในที่นี้น่าจะหมายถึง Robert Nininger หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญของโครงการแมนฮัตตัน) แต่ทันทีที่เห็นตัวลูกบาศก์ที่ส่งมา คุณ Koeth ซึ่งเป็นนักสะสมของที่ระลึกเกี่ยวกับนิวเคลียร์ก็เข้าใจได้ในทันทีว่า สิ่งที่เขาได้มานั้นคงไม่พ้นลูกบาศก์ยูเรเนียมแน่ๆ

และในเวลานั้นอย่างที่คุณ Koeth เข้าใจว่ามันเป็นหน้าที่ของเขาแล้ว ที่จะนำลูกบาศก์อันนี้ไปสืบหาว่ามันมาจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในอดีตอย่างที่มีการกล่าวอ้างจริงๆ ไหม

อ้างอิงจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สองทางนาซี เคยมีความพยายามในการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์อยู่หลายครั้ง ซึ่งหนึ่งในการทดลองเหล่านั้นก็มีการทดลองอยู่ชิ้นหนึ่งที่ทางเยอรมนีได้ทำการสร้างลูกบาศก์ยูเรเนียมขนาดราวๆ 5 เซนติเมตรขึ้น

 

 

ลูกบาศก์เหล่านี้เดิมทีแล้วเชื่อกันว่าผลิตขึ้นมา 664 ชิ้น และจะถูกเชื่อมติดกันคล้ายโคมไฟระย้า เพื่อใช้ในโครงการเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่มีชื่อว่า “B-VIII” ซึ่งในเวลาต่อมาถูกรื้อถอนไปโดยฝ่ายสัมพันธมิตร และลูกบาศก์ยูเรเนียมเหล่านี้ก็ถูกส่งไปยังสหรัฐอเมริกาหลังจากที่สงครามพบลง

นี่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ว่าลูกบาศก์ ที่คุณ Koeth มีจะเป็นของจริง ดังนั้นเขาจึงร่วมมือกับ คุณ Miriam Hiebert นักวัสดุศาสตร์ที่เขารู้จักในการตรวจสอบลูกบาศก์ยูเรเนียมที่เขาได้รับมา

 

คุณ Timothy Koeth (ขวา) และคุณ Miriam Hiebert (ซ้าย)

 

ทั้งสองพบว่า ลูกบาศก์ยูเรเนียมที่ คุณ Koeth ได้มานั้น สร้างขึ้นจากยูเรเนียมธรรมชาติ ที่ไม่ผ่านการเสริมสมรรถนะแบบยูเรเนียมที่ใช้กันในปัจจุบันแต่อย่างใด แถมยังมีรูปแบบรังสีที่คล้ายกับลูกบาศก์ยูเรเนียมในสมัยก่อนอีกด้วย ทำให้มีโอกาสสูงมากที่ลูกบาศก์ยูเรเนียมของคุณ Koeth จะเป็นของที่ผลิตจากเยอรมนีในสมัยสงครามจริงๆ

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่การค้นพบเพียงอย่างเดียวที่ คุณ Koeth ทราบจากการวิจัยในครั้งนี้ เพราะการตรวจสอบข้อมูลในสมัยก่อนยังทำให้พวกเขาทราบอีกว่า ลูกบาศก์ยูเรเนียมเหล่านี้จริงๆ แล้ว น่าจะยังมีอยู่อีกถึงราวๆ 400 ก้อน และในอดีตทางนาซีเองก็น่าจะเข้าใกล้ความสำเร็จในการสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์มากกว่าที่เราคิดเยอะเลยด้วย

 

การรื้อถอนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 1945

 

ปัญหาคือในเวลานั้น หน่วยงานในโครงการนิวเคลียร์ของนาซีไม่ได้สามัคคีกันเท่าไหร่ ดังนั้นลูกบาศก์ยูเรเนียมจึงถูกเก็บไว้แยกกันโดยนักวิทยาศาสตร์หลายๆ กลุ่ม จนทำให้สุดท้ายเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่พวกเขาสร้างขึ้นก็มีลูกบาศก์ยูเรเนียมไม่มากพอที่จะทำงานได้จริง

นี่อาจจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับฝั่งสัมพันธมิตรในช่วงสงครามก็จริงอยู่ แต่ในขณะเดียวกันมันก็หมายความว่าในปัจจุบันเรายังมีลูกบาศก์ยูเรเนียมอีกถึง 400 ชิ้นที่หายไป ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีเหตุผลหลักๆ จากการถูกขายในตลาดมืด

 

 

ทีมนักวิจัยบอกว่าในปัจจุบัน เราค้นพบลูกบาศก์ยูเรเนียมที่หายไป เพียงแค่ 10 ลูกเท่านั้น ซึ่งถูกเก็บไว้โดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสถาบันสมิธโซเนียนในวอชิงตัน ดี.ซี. ดังนั้นหากใครก็ตามที่พบกับลูกบาศก์ที่สงสัยว่าจะเป็นลูกบาศก์ยูเรเนียม ทีมวิจัยก็ข้อความร่วมมือให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุด

ส่วนลูกบาศก์ยูเรเนียมที่คุณ Koeth มีนั้นในปัจจุบันเจ้าตัวได้วางแผนว่าจะให้ทางพิพิธภัณฑ์ได้ยืมไปจัดแสดง เพื่อที่คนทั่วไปจะสามารถเข้าชมความน่าสนใจของเจ้าก้อนยูเรเนียมนี้ได้สืบไป

 

 

ที่มา allthatsinteresting, dailymail, sciencenews, phys

Comments

Leave a Reply