นักบรรพชีวิน พบกิ้งกือโบราณสายพันธุ์ใหม่ในอำพันที่พม่า คาดมีอายุถึง 99 ล้านปี

ย้อนกลับไปเมื่อราวๆ 99 ล้านปีก่อน ในยุคครีเทเชียส ยังมีกิ้งกือตัวหนึ่งคลานอยู่ในป่าลึกที่ในเวลาต่อมากลายเป็นพื้นที่ที่รู้จักกันในชื่อ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” มันสามารถรอดชีวิตจากการถูกเหยียบโดยไดโนเสาร์มาได้อย่างยาวนาน แต่สุดท้ายก็ต้องจบชีวิตลงเพราะตกลงไปในยางของต้นไม้

แน่นอนว่ายางไม้เหล่านั้นค่อยๆ กลายสภาพไปเป็นอำพันตามกาลเวลา และเมื่อเวลาผ่านไป กิ้งกือตัวดังกล่าวก็ถูกพบโดยเหล่านักวิทยาศาสตร์จนได้

 

 

การค้นพบในครั้งนี้ขึ้นในประเทศพม่าเพื่อนบ้านของเรา ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Zookeys ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมาก และเชื่อกันว่าเป็นกิ้งกือสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่เคยมีการศึกษามาก่อน

อ้างอิงจากข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยออกมากิ้งกือที่ถูกค้นพบในครั้งนี้ เป็นกิ้งกือตัวเมียที่มีขนาดราวๆ 8.2 มิลลิเมตร ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ในอำพันในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ในสภาพโค้งงอเป็นตัว S และมีลำตัวแบ่งออกเป็นปล้องๆ จำนวน 35 ปล้อง และมีถุงแบบพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อเก็บอสุจิจากตัวผู้ไว้ใช้งานในภายหลังอยู่ที่บริเวณใต้ตัว

 

รูปสามมิติที่สร้างขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ของกิ้งกือที่พบ

 

นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อให้กิ้งกือที่พวกเขาพบตัวนี้ว่า “Burmanopetalum inexpectatum” และพบว่ากิ้งกือที่พวกเขาพบนั้นนับว่าเป็นหนึ่งในหลักฐานของกิ้งกือโบราณที่มีความเก่าแก่มากที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยพบมาเลย

จุดเด่นที่น่าสนใจและทำให้กิ้งกือตัวนี้มีความแตกต่างไปจากกิ้งกือตัวอื่นๆ ที่เราเคยพบนั้น อยู่ที่ดวงตาอันเป็นเอกลักษณ์ของมัน เพราะกิ้งกือตัวนี้นั้นมีตาที่ประกอบไปด้วยหน่วยรับแสงเพียง 5 หน่วย ซึ่งนับว่าน้อยมากๆ ในหมู่กิ้งกือที่ตามปกติจะมีหน่วยรับแสงราวๆ 30 หน่วย

 

 

นี่นับเป็นการค้นพบที่น่าจับตามองของเหล่านักบรรพชีวินเลยก็ว่าได้ เพราะกิ้งกือตัวนี้นั้นไม่เพียงแต่แสดงให้เราเห็นว่ากิ้งกือในสมัยก่อนมีลักษณะเป็นอย่างไรเท่านั้น แต่การศึกษากิ้งกือตัวนี้อย่างละเอียดเอง ยังอาจนำเราไปสู่การไขปริศนาจุดเริ่มต้นของสัตว์ในสายพันธุ์นี้ได้เลยด้วย

 

ที่มา livescience, allthatsinteresting และ zmescience

Comments

Leave a Reply