“เหตุเครื่องบินที่เขาแอนดีส” เรื่องราวสุดสลดที่ผู้รอดชีวิตต้องกินคนตายเพื่อความอยู่รอด

เคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับคดีที่ชื่อ “Andes Plane Crash” กันไหม?

นี่คือเหตุการณ์ที่เครื่องบินตกบนเทือกเขาแอนดีส เมื่อปี ค.ศ. 1972 ที่กลายเป็นเรื่องราวโด่งดังไปทั่วโลกในช่วงศตวรรษที่ 20 จนถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ “Alive” ในปี 1993

 

 

เหตุเครื่องบินตกบนเขาแอนดีส เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 13 ตุลาคม 1972 เครื่องบิน Fairchild FH-227D ของกองบินอุรุกวัยเกิดปัญหาทางการควบคุมในระหว่างการเดินทางไปชิลี ก่อนที่จะตกลงบนเขาแอนดีสอย่างรุนแรง

เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้โดยสารเสียชีวิตทันที 17 คนจากทั้งหมด 45 คน ในขณะที่ผู้โดยสารที่เหลืออีก 28 ราย ต้องพบกับความหนาวและการขาดอาหารอย่างหนักในระหว่างรอการช่วยเหลือ

และนั่นนำไปสู่เหตุการณ์กินคนที่น่าเศร้าที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุคใหม่

 

 

ในช่วงเวลาสิบวันหลังจากที่เครื่องบินตก เหล่าผู้รอดชีวิตที่ส่วนมากเป็นสมาชิกทีมนักรักบี้จากสโมสรคริสเตียนเก่าก็ได้ทราบข่าวร้ายจากวิทยุทรานซิสเตอร์ว่าการค้นหาเครื่องบินที่พวกเขาโดยสารมานั้นถูกยกเลิกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ดังนั้นในระหว่างที่พวกเขาต้องจมอยู่ในความหิวและสิ้นหวัง พวกเขาจึงสัญญากันว่าใครก็ตามที่ตายไปจะยอมให้คนที่เหลือกินร่างของตัวเองได้ เพื่อให้เพื่อนๆ มีชีวิตรอดนานขึ้นแม้สักนิดก็ยังดี

คำสัญญาในวันนั้น ถูกรักษาไว้เป็นอย่างดีโดยกลุ่มผู้รอดชีวิตซึ่งไร้ซึ่งทางเลือกอื่น และใช้ร่างของเหล่าผู้ตายเป็นอาหารประทังชีวิตเรื่อยมา เป็นเวลายาวนานกว่า 72 วัน

 

 

Roberto Canessa ผู้เป็นนักศึกษาแพทย์หนึ่งในเหล่าผู้รอดชีวิตเล่าว่า “เมื่อคุณทานเนื้อมนุษย์คุณจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่น่าสังเวชที่สุดบนโลกใบนี้ แต่ในหัวผมตอนนั้นแล้ว มันเป็นความคิดของเพื่อนๆ ที่จากไป ที่จะช่วยให้ผมสามารถอยู่รอดต่อไปได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่มีโอกาสได้ทำ”

 

และในท้ายที่สุด Canessa  ก็รอดชีวิตจริงๆ เพราะหลังจากที่เขา และผู้รอดชีวิตคนอื่นๆ ต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่บนธารน้ำแข็งกว่า 72 วัน

ในที่สุดพวกเขาก็ได้พบทีมช่วยเหลือ และสามารถมีชีวิตรอดจากเหตุการณ์อันเลวร้ายมาได้ในที่สุด

 

Roberto Canessa หนึ่งในผู้รอดชีวิต

 

อ้างอิงจากข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ เหตุการณ์ในครั้งนี้มีผู้รอดชีวิตกลับมาได้ทั้งหมด 16 คน ซึ่งหมายความว่ามีผู้เสียชีวิตไปในระหว่างการรอคอยความช่วยเหลืออีกราวๆ 12 คน

ถึงอย่างนั้นก็ตามความตายของพวกเขาก็ไม่ใช่สิ่งที่ไร้ค่าแต่อย่างไร เพราะอย่างน้อยๆ พวกเขาก็มีส่วนช่วยที่ทำให้เพื่อนๆ ที่เหลือมีชีวิตรอดต่อไป แม้ต้องสละร่างไร้วิญญาณของตัวเองก็ตามที

 

 

ที่มา express, vintagenewsdaily และ theguardian


Tags:

Comments

Leave a Reply