นักโบราณคดีพบเมืองเก่าแก่ในอิรัก เชื่ออายุมากกว่า 4,000 ปี และถูกทิ้งร้างจากเหตุไฟไหม้

เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา สื่อต่างประเทศได้ทำการรายงานข่าวการค้นพบซากเมืองโบราณในเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน พื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศอิรัก

 

 

นี่เป็นการค้นพบของทีมนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ซึ่งพยายามทำการขุดพื้นที่ดังกล่าวมาตั้งแต่หลายปีก่อน แต่ก็ต้องพบกับความยากลำบากเนื่องจากเหตุการณ์ความขัดแย้งเกี่ยวกับนายซัดดัม ฮุสเซน และการก่อการร้ายในเวลาต่อมาของกลุ่ม ISIS ทำให้การสำรวจเพิ่งจะประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมาเท่านั้น

อ้างอิงจากทีมนักโบราณคดี พื้นที่ที่พวกเขาพบเมืองโบราณนั้นถูกเรียกกันว่า “Kunara” ซึ่งในอดีตตั้งอยู่ที่ชายแดนทางตะวันตกของอาณาเขตที่มีการแพร่หลายของอารยธรรมเมโสโปเตเมียพอดี และน่าจะเป็นใจกลางของอาณาจักรของเหล่าชาวเขาชื่อ Lullubi

 

หนึ่งในซากสิ่งก่อสร้างที่มีการค้นพบ นักโบราณคดีบอกว่าอาคารนี้น่าจะทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการประกอบพิธีกรรม

 

โดยจากการตรวจสอบอายุของฐานสิ่งก่อสร้างในเมืองที่พบ นักโบราณคดีก็คาดกันว่าเมืองแห่งนี้น่าจะเคยมีคนอาศัยอยู่ในเมื่อราวๆ 4,200 ปีก่อน และน่าจะถูกทิ้งร้างหลังเหตุการณ์ไฟไหม้เมื่อราวๆ 4,000 ปีก่อน

และในพื้นที่เมืองนั้นเอง นักโบราณคดีก็ได้ทำการค้นพบแผ่นจารึกที่ทำจากดินเหนียวนับสิบชิ้น ซึ่งมีการสลักข้อความไว้ในรูปแบบอักษรรูปลิ่มอันเป็นระบบการเขียนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และคาดกันว่ามีใจความเกี่ยวข้องกับวิธีการขนแป้ง

 

 

การพบอักษรรูปลิ่มนี้ ทำให้นักโบราณคดีตั้งข้อสันนิษฐานว่าประชาชนที่เคยอาศัยในเมืองนี้น่าจะมีความรู้เรื่องภาษาพอสมควร และเป็นไปได้ว่าพวกเขาจะสามารถให้ภาษาได้ทั้งของ อัคคาเดียน ซูเมเรียน และภาษาในกลุ่มเมโสโปเตเมีย

นอกจากแผ่นจารึกแล้ว นักโบราณคดียังได้ทำการค้นพบหัวลูกธนูที่ทำจากหินออบซิเดียน และแจกันที่มีลวดลายของงูและแมงป่องอีกด้วย อย่างไรก็ตามในบรรดาสิ่งที่พวกเขาพบนั้นไม่มีสิ่งใดเลยที่จะสามารถบอกพวกเขาได้ว่าเมื่อก่อนเมืองแห่งนี้เคยมีชื่อว่าอะไร

 

.

 

นั่นทำให้ในปัจจุบันทีมนักวิทยาศาสตร์ได้วางแผนที่จะกลับมาทำการขุดค้นหลักฐานของเมืองที่พบในพื้นที่แห่งนี้อีกครั้ง โดยหากกำหนดการไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง พวกเขาก็คาดกันว่าจะสามารถเริ่มงานต่อได้ ภายในฤดูใบไม้ร่วงที่จะถึงนี้ (เดือนกันยายน-ธันวาคม)

 

ที่มา foxnews และ ancient-origins


Tags:

Comments

Leave a Reply